ปลัดเกษตรฯเตรียมเรียกผู้ประกอบการ ถกแก้ปัญหาราคายางพารา

  •  
  •  
  •  
  •  

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเชิญผู้ประกอบกิจการมาเกี่ยวกับยางพารา หวังขอความร่วมมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางอย่างเร่งด่วน พร้อมให้นำมาตรการทางกฎหมายเพื่อมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม 

      ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการหารือแนวทางเฝ้าระวังสถานการณ์ยางพารา และมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราทั้งระบบ ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า สถานการณ์ยางพาราที่ผันผวนในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีปัจจัยจากหลายสาเหตุ อาทิ  ผู้ประกอบการเก็งกำไรในช่วงสถานการณ์ผันผวน นักลงทุนเทขายในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศเพื่อทำกำไร และปริมาณสต๊อกยางเซี่ยงไฮ้ปรับตัวสูงขึ้น ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 253,537 ตัน เพิ่มขึ้น 5,627 ตัน จากสัปดาห์ก่อน

ทองเปลว กองจันทร์

       เนื่องจากมีการซื้อเข้าสูงในช่วงก่อนหน้า และปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การขาดแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ มาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐ รวมทั้งสถานการณ์โรคใบร่วง และสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตก พายุเข้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ อีก เช่น ราคาน้ำมันดิบ และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากช่วงก่อนหน้าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลให้ปริมาณยางพาราที่ออกสู่ตลาดลดลง เป็นปัจจัยทำให้ราคายางพาราผันผวนนั่นเอง

      จากการหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มติที่ประชุมเห็นชอบให้นำมาตรการทางกฎหมายเพื่อมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยและสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้จุดรับซื้อยางต้องติดป้ายแสดงราคารับซื้อยางพาราที่ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจขายยางของเกษตรกร หากพบว่าผู้ประกอบกิจการยางหรือผู้รับซื้อยางมีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่าร่วมกันกำหนดราคาหรือเงื่อนไข กฎเกณฑ์ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อีกทั้ง ระบุให้ผู้ค้ายางทุกรายจะต้องมีใบอนุญาตค้ายาง และต้องรายงานบัญชีการซื้อขายยาง ตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและการยางแห่งประเทศไทย จะร่วมมือกันในการออกตรวจใบอนุญาตค้ายางแบบปูพรมทุกพื้นที่อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ กยท. ยังมีโครงการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางควบคู่กับมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว เช่น โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกร การเพิ่มจุดรับซื้อและรวบรวมน้ำยางสด โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2

      ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ตั้งคณะติดตามสถานการณ์ราคายางพาราผันผวน โดยมอบให้ปลัด กษ. เป็นประธานคณะกรรมการ และจะเชิญผู้ประกอบกิจการมาเพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางอย่างเร่งด่วน