ชี้ชัด “เคมี” ยังจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ ทั้งภาคอุตฯ-เกษตร-อาหาร-ยา ย้ำต้องใชอย่างถูกวิธี

  •  
  •  
  •  
  •  

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี-สภาอุตฯ-นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐและเอกชน สะท้อนผ่านเวทีเสวนา “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” ฟันธงเคมีมีสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ระบุทุกสารเคมีอันตรายหมด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้อย่างรับผิดชอบต่อสังคม “ดร.จรรยา มณีโชติ” แฉความจริงวาทกรรม “สารพิษอาบแผ่นดิน” ขี้หกทั้งเพ เผยจากการสืบค้นหาความจริงน้ำดื่มเมืองน่านยังปลอดภัย แต่นักวิจัยโมเมค่ามาตรฐานผิดจากความจริง ขณะที่สาเหตุโรคเนื้อเน่า พบแต่เชื้อแบคทีเรียเป็นต้นเหตุ ขณะที่ขี้เทาทารก พบว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการ  ชี้ขั้นตอนการพิจารณาแบนพาราควอต ไม่ปกติของกรมวิชาการเกษตร ระบุเร่งรีบทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทน

      วันที่ 3 กันยายน  2563 กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนา เรื่อง “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย”ของสังคม  ณ ห้องบอลลูม ชั้น 7 โรงแรมแลนด์มาร์ค ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาคอุตสาหกรรม  ภาครัฐเอชน นักวิวิชาการ ร่วมสัมมนาอย่างคับคั่ง อาทิ   รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฮาซเคมโลจิสติกส์แมเนจเมนท์ จำกัด ศ. ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานสารตกค้างทางการเกษตร JMPR (FAO/WHO)  ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น

      นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์  กรรมการคณะกรรม- การกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กล่าวว่า เวทีเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจากองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมให้ความเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการเคมีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เคมีของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยมุ่งเน้นการใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมกันนี้ ยังได้หยิบยกกรณีศึกษา การแบน 3 สารเคมี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและกำลังเป็นที่สนใจของสังคมขณะนี้มาพูดคุยและเสนอมุมมองที่น่าสนใจให้สังคมได้พิจารณาอีกด้วย

      นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นน้ำของหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก อาทิ ปิโตรเคมี พลาสติก ยา เกษตร อาหาร ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ ในปี 2562 มูลค่ากว่า 1.02 แสนล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ

                                                                                  เกรียงไกร เธียรนุกุล

      ด้านนายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า มีการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภค-บริโภคในประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสน 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นลำดับที่ 4 ของสินค้าที่มีการนำเข้าของไทย ดังนั้น สารเคมีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ นับแต่ลืมตาตื่นนอนจนถึงเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องปรุงอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นผลิตผลมาจากสารเคมี หรือปฏิกิริยาทางเคมีทั้งสิ้น ในจำนวนนี้นำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์อีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม ทางกลับกันหากใช้สารเคมีอย่างผิดวิธี ก็อาจนำมาสู่ผลกระทบในแง่ลบต่อการดำรงชีวิตในหลาย ๆ ด้านเช่นกัน ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและการบริหารจัดการสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

    ส่วน ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล กล่าวว่า ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึง เคมี มักจะถูกสังคมมองถึงด้านลบเพียงด้านเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเป็นผู้ร้ายของสังคม และถูกมองว่าเป็นสิ่งอันตราย เป็นภัยต่อผู้ใช้โดยส่วนรวม แต่เราทุกคนลืมไปหรือไม่ว่า เคมี ก็เหมือนกับเหรียญสองด้าน มิได้ให้ผลต่อผู้ใช้เพียงด้านเดียว แต่ยังมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้ เพียงแต่เราต้องใช้อย่างถูกวิธี ยกตัวอย่างเช่น กรณีการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเสต เป็นสารเคมีที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรเป็นอย่างมากในการกำจัดแมลงและวัชพืชที่รบกวนการเพาะปลูก ซึ่งผลกระทบต่าง ๆ ต่อสุขภาพ ที่มีการอ้างอิงถึง เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ในเรื่องใช้อย่างแท้จริง ในวันนี้เราจึงตั้ง “เครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัย เพื่อการใช้เคมี อย่างยั่งยืน แห่งประเทศไทย” หรือ “Network of Safety Chemical Usage for Sustainable Development of Thailand”(NSCU) ขึ้น ซึ่งเกิดจากความมือระหว่าง หน่วยงานภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคการเมือง เพื่อเป็นเครือข่ายที่จะลุกขึ้นมาให้ความรู้ ความเข้าใจ การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและยั่งยืนแก่สังคมไทย

                                                                        ดร.จรรยา มณีโชติ

        ขณะที่ ดร.จรรยา มณีโชติ  กล่าวถึงประเด็นของข่าวการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในน้ำดื่ม จ.น่าน เกินค่ามาตรฐานสากล ข่าว โรคเนื้อเน่า สาเหตุจากพาราควอต ที่ จ.หนองบัวลำภู และการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มแม่และในขี้เทาทารก เป็นข่าวที่ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกว่า เกษตรกรไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากจนผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย เกิดวาทกรรม “สารพิษอาบแผ่นดิน” แต่จากการสืบค้นหาความจริง พบว่า น้ำดื่มเมืองน่านยังปลอดภัย แต่นักวิจัยอ้างค่ามาตรฐานผิดจากความจริง และเมื่อลงพื้นที่หาสาเหตุโรคเนื้อเน่า เดือนธันวาคม 2562 เก็บตัวอย่างตะกอนดินและน้ำไปวิเคราะห์ผล คือ ไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่พบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคเนื้อเน่า  ส่วนงานวิจัยพาราควอต ในขี้เทาทารก พบว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการในวิธีการทดลองของนักวิจัย ดังนั้น สมาคมฯ จึงเสนอขอทบทวนมติการแบนพาราควอต

      ดร.จรรยา  กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ขั้นตอนการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต ไม่ใช่ขั้นตอนปกติของกรมวิชาการเกษตร นอกจากการแบนสารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทน ที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับพาราควอต ไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต

     อย่างไรก็ตาม  เมื่อพาราควอตถูกแบนไปเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 กษ.ประกาศให้เวลาเกษตรกร 90 วัน เพื่อนำพาราควอต มาส่งคืนเพื่อเผาทำลายภายใน 29 สิงหาคม 2563 แต่ อย. กลับผ่อนผันให้ภาคอุตสาหกรรมนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราควอตและมีค่าตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน CODEX ไปจนถึง 1 มิถุนายน 2564 ทำให้เกิดตำถามสำหรับผู้บริโภคว่า พาราควอตตกค้างนิดเดียวก็อันตราย แต่ทำไมยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารที่ปนเปื้อนพาราควอตมาให้คนไทยบริโภค สรุปว่าตกค้างไม่เกินมาตรฐานไม่อันตราย แต่ทำไมไม่อนุญาตให้เกษตรกรใช้ไปจนถึงปีหน้า ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ และในระหว่างการผ่อนผัน ควรตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสองฝ่าย มาร่วมกันทบทวนหลักฐานที่ใช้ประกอบการแบนพาราควอตว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้งและความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

     “ทางสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยเรา เห็นว่า การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร และสนับสนุนแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หรือเกษตรปลอดภัย จะเป็นทางออกที่ถูกต้องและยั่งยืนสำหรับภาคเกษตรไทย” ดร.จรรยา กล่าว