สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์(29 มิ.ย.- 3 ก.ค.63) ราคาข้าว-ข้าวโพดลดลงอีก

  •  
  •  
  •  
  •  

สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ วันที่ 29 มิถุนายน- 3 กรกฎาคม 2563


ข้าวโพด : ราคาลดลง
        ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ในสัปดาห์นี้ ลดลงจากหาบละ 564 บาท เป็นหาบละ 552 บาท เนื่องจากพ่อค้าเร่งขายข้าวโพดในสต๊อกออกมา เพื่อเตรียมซื้อข้าวโพดฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออก
        ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกันยายน ราคาอยู่ที่ 350.50 เซนต์/บุชเชล กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ประกาศตัวเลขพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดฤดูกาล 2563/64 ที่ 92 ล้านเอเคอร์ น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 95.1 ล้านเอเคอร์ เป็นปัจจัยสนับสนุนราคาข้าวโพด ขณะที่สต๊อกข้าวโพด ณ วันที่ 1 มิถุนายน คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 5,224 ล้านบุชเชล มากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ด้านสภาพอากาศในพื้นที่เพาะปลูกมิตเวสท์ คาดว่าสัปดาห์นี้จะมีปริมาณน้ำฝนที่ลดลงและมีอุณหภูมิสูงขึ้น
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะลดลง

ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
        กากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 13.95 บาท สถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆ ประเทศเริ่มดีขึ้น ทำให้ปริมาณการบริโภคกลับมาดีขึ้น ความต้องการซื้อกากถั่วเหลืองในตลาดเริ่มมีปริมาณมากขึ้น ขณะที่ความกังวลในประเทศผู้ผลิต เช่น บราซิล และสหรัฐอเมริกา ที่มีปัญหาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ยังไม่มีผลกระทบกับการผลิตและระบบการขนส่งที่ท่าเรือมากนัก
        ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม ราคาอยู่ที่ 891.5 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม ราคาอยู่ที่ 295.5 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาขยับตัวสูงขึ้น รายงานพื้นที่การหว่านเมล็ดถั่วเหลืองสหรัฐฯ ฤดูกาล 2563/64 อยู่ที่ 83.8 ล้านเอเคอร์ ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราห์คาดการณ์ ขณะที่สต๊อกถั่วเหลือง ณ วันที่ 1 มิถุนายน คาดการณ์อยู่ที่ 1,385 ล้านบุชเชล ต่ำกว่าฤดูกาลที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1,783 ล้านบุชเชล
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว

ปลาป่น : ราคาลดลง
        ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ประเทศผู้ผลิตอย่างเปรู จับปลาได้ดีอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าน่าจะจับปลาได้ครบโควต้าภายในกลางเดือนกรกฎาคม ด้านผู้ซื้อหลักอย่างจีนเริ่มปรับราคารับซื้อลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมราคาตลาดสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลง
        สถานการณ์ราคาปลาป่นในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับลง 1.50 บาททุกเบอร์ ยกเว้นเกรดกุ้ง โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 44.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 38.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 36.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 35.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 34.20 บาท
        ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 35.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 33.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 32.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 31.20 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะลดลง

ข้าว : ราคาลดลง
        ตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 534 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 526 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 435 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 427 เหรียญสหรัฐฯ
        ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาลดลงจากกระสอบละ 1,500 บาท เป็นกระสอบละ 1,480 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาลดลงจากกระสอบละ 1,200 บาท เป็นกระสอบละ 1,180 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว

สุกร : ราคายืนแข็ง
        จากมาตรการคลายล็อกของรัฐบาล ประกอบกับโรงเรียนเปิดเทอม ส่งผลให้การบริโภคโดยรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ วันพระที่ผ่านมา ยืนแข็งที่กิโลกรัมละ 72-80 บาท
        ด้านลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,300 บาท (บวก/ลบ 72)
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง

ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
        การบริโภคเนื้อไก่ในสัปดาห์นี้โดยรวมทรงตัว โดยได้รับปัจจัยบวกจากโรงเรียนเปิดภาคการศึกษา และมาตรการคลายล็อกจากรัฐบาล ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 34 บาท
        ด้านลูกไก่เนื้อราคาตัวละ 12.50 บาท และลูกไก่ไข่ราคาตัวละ 26.00 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว

ไข่ไก่ : ราคาเพิ่มขึ้น
        ราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ปรับขึ้น 20 สตางค์ จากราคาฟองละ 2.40 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท โดยได้รับปัจจัยบวกจากโรงเรียนเปิดภาคการศึกษา และมาตรการส่งออกไข่ไก่ 200 ล้านฟอง ในระยะเวลา 6 เดือน ของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงมาตรการคลายล็อกจากรัฐบาลที่ทำให้การจับจ่ายคล่องขึ้น ทั้งนี้ทิศทางการค้าและแนวโน้มดีขึ้น
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะยืนแข็ง

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF