ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ค.63 อนิสงค์จากคลายล็อคดาวน์ หลายรายการแนวโน้มดีขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  

สมเกียรติ กิมาวหา

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนกรกฎาคม 2563ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกรกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นเป็นผลจากมาตรการคลายล็อคดาวน์และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายด้านข้าวเปลือกเจ้าข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันสำปะหลัง มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

        นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม2563โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้นได้แก่

       ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวราคาอยู่ที่ 15,629-15,811บาท/ตันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.41-1.31 เนื่องจากสต็อกข้าวเหนียวของผู้ประกอบการน้อยลง จึงมีความต้องการรับซื้อเพิ่มขึ้นน้ำ

      ตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กราคาอยู่ที่ 12.11 – 12.23  เซนต์/ปอนด์ (8.30 – 8.38 บาท/กก.)เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 1.50 จากแรงหนุนของทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อราคาเอทานอล ประกอบกับเงินเรียลของบราซิลที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ  ทำให้ความสามารถในการส่งออกน้ำตาลของบราซิลลดลง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของบราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากกว่าน้ำตาล

       ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3ราคาอยู่ที่ 36.96 – 37.20 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.35 – 1.00 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำยางข้น (Concentrated Latex)ของผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปผลิตถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย และยางยืด ประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่หลายๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

       ปาล์มน้ำมันราคาอยู่ที่ราคา 3.18-3.25 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32 – 2.6เนื่องจากมาตรการคลายล็อคดาวน์ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นเป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในภาคการขนส่ง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและใช้ในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ

       สุกร ราคาอยู่ที่ 68.41 – 69.28 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.54 – 2.84  เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายล็อคดาวน์ และการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศจีนและเวียดนามประสบปัญหาการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จึงมีความต้องการเนื้อสุกรจากไทยเพิ่มขึ้น

       กุ้งขาวแวนนาไมขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 147.00- 148.00 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.68  – 1.37 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการคลายล็อคดาวน์และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศส่งผลให้ความต้องการกุ้งในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

        ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,772-8,889 บาท/ตันลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.11-3.40 เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้าข้าวลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่น ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน

       ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,181-14,565 บาท/ตันลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.54-3.16 เนื่องจากประเทศผู้นำเข้า อาทิ สหรัฐอเมริกานำเข้าข้าวหอมมะลิปริมาณมากในช่วงที่ผ่านมา จึงเริ่มชะลอการรับมอบข้าวเพราะมีสต็อกข้าวเพียงพอแล้ว

      ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.65-7.81 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00-3.00 เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และการนำเข้าจากประเทศเมียนมาที่ผ่อนปรนการนำเข้าไปถึงเดือนสิงหาคม 2563 ประกอบกับเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้คุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาปรับลดลงและมันสำปะหลังราคาอยู่ที่ 1.56 – 1.61บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.62- 3.70 เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตกชุกไม่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้หัวมันสำปะหลังมีคุณภาพเชื้อแป้งต่ำ รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลทำให้ราคาซื้อขายหัวมันสดในประเทศลดลง