นักวิชาการอ้อย เตือนรัฐบาล แบนพาราควอตมิ.ย.นี้ระวัง!!อุตสาหกรรมอ้อยยับเยิน

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                ดร. กิตติ ชุณหวงศ์

นักวิชาการอ้อย ชี้ 3 มหันตภัย “ ภัยแล้ง-โควิด- แบนพาราควอต” จ่อถล่มภาคอุตสาหกรรมยับเยิน  เบื้องต้นคาดสูญหายกว่า 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่รวม 3 แสนล้าน  สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลฯออกโรง เตือนรัฐบาลไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนอุตสาหกรรมอ้อยเสียหายเกินกว่าที่คาด

      ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ( สนอท.) กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นปีนี้ มีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยมากที่สุด คาดว่าในกรณีร้ายแรงที่สุด ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาล อาจลดลงมากถึง 25 ล้านตัน หรือคิดเป็น 27% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยรวม ส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาล เหลือประมาณ 75 ล้านตัน หดตัวตัว 43% จากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากภัยแล้ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลจะทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมีนาคม เร็วกว่าปกติ ซึ่งจะปิดหีบในช่วงเดือนเมษายน โดยหากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน โรงงานน้ำตาลอาจเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อไปอีกด้วย

      ที่เลวร้ายเข้าไปอีกคือผลการศึกษาล่าสุด ในรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจหากยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อภาคการเกษตรอุตสาหกรรม และการส่งออกของประเทศไทย พ.ศ.2563 พบว่า ปัจจัยการผลิตสำคัญที่กว่า 80 ประเทศทั่วโลกใช้เพื่อกำจัดวัชพืช นั่นคือ พาราควอต โดยเฉพาะออสเตรเลีย บราซิล และอินเดีย ใช้เพื่อลดจำนวนวัชพืช ซึ่งจะแย่งน้ำและธาตุอาหารของพืชหลัก เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชและโรคพืช จำกัดจำนวนของอ้อยตอที่งอกใหม่จากอ้อยต้นเดิม และรบกวนการหีบอ้อย

       ทั้งนี้ การผลิตอ้อย จำเป็นต้องใช้พาราควอต ในการควบคุมวัชพืชในระยะแตกกอหรือในช่วง 30-170 วันหลังปลูก และระยะอ้อยย่างปล้องเป็นจุดวิกฤตที่สุด หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ จะทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 20-50 ส่งผลปริมาณอ้อยเหลือ 67-108 ล้านตัน จากเดิม 134.8 ล้านตัน กระทบเกษตรกรสูญรายได้รวม 5.8 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญ หากมีฝนตกชุก วัชพืชจะเติบโตเร็วและมาก ไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลเข้าไปจัดการในแปลงได้ และไม่มีสารเคมีเกษตรชนิดอื่นทดแทนได้นอกจากพาราควอต

      อีกทั้ง ในปีนี้ ต้นทุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย สูงถึง 1,200-1,300 บาทต่อไร่ ต่างจากฤดูปกติ อยู่ที่ 1,110 บาทต่อไร่ ขณะที่ค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ทำให้ภาครัฐต้องหันมาพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต อันเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดห้ามสนับสนุนเงินช่วยเหลือ

     ดังนั้น จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากผลกระทบภัยแล้ง และรายได้จากการส่งออกที่ลดลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หากมีการยกเลิกใช้พาราควอต ในเบื้องต้น สนอท. คาดการณ์ผลผลิตอ้อยลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 50 คิดมูลค่าเสียหายสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 1.5 แสนล้านบาท รวมสูญเสีย 3 แสนล้านบาท

      นอกจากนี้ การพิจารณาเลือกวิธีการและสารทดแทนพาราควอตนั้น ควรดำเนินการอย่างรอบด้านและรัดกุม ได้แก่ ประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืช ประหยัดเวลา ราคา ค้นทุน ปลอดภัยต่อพืชเศรษฐกิจ (อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล) รวมทั้งปลอดภัยต่อผู้ใช้ สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค โดยศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์แล้วพบว่าสารเคมีเกษตรที่อยู่ในข้อเสนอทดแทนนั้น ไม่มีสารทดแทนใดมีประสิทธิภาพ ราคา และสามารถใช้ได้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทั้ง 6 ชนิด สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดยืนยันโดยกรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีสารและวิธีการอื่นใดมาทดแทนพาราควอตได้

   “ท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังรุมเร้ารัฐบาลในหลายด้าน ทั้งปัญหาใหม่ เช่น ไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการส่งออกสินค้า ผลผลิตส่งออกไม่ได้ ปัญหาเก่า ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม หนี้สินเกษตรกร ต้นทุนการผลิตภาคเกษตร ปัญหาแรงงานเกษตรที่หายากและราคาแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ทันจะแก้ไข กลับจะซ้ำเติมให้เลวร้ายยิ่งขึ้นให้กับภาคอุตสาหกรรมอ้อยด้วยการแบนพาราควอต จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง อย่าเพิ่งยกเลิกใช้พาราควอตในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบเสียหายเกินคาด อย่าลืมว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกเป็นหลักกว่า 11 ล้านตันต่อปี สาเหตุสำคัญที่ไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยต้นทุนอ้อยของไทยต่ำกว่า ดังนั้น มาตรการจำกัดการใช้ จึงเป็นทางสายกลาง เป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้” ดร. กิตติ กล่าว