อลงกรณ์ พลบุตร
กระทรวงเกษตรฯผนึกกำลังทุกภาคส่วน งัด 8 มาตรการ ทั้งช่วยด้านแรงงาน ขนส่ง หาตลาด เสริมสภาพคล่อง แปรรูป หวังช่วยเหลือเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ให้พ้นวิกฤต “โควิด-19”
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากการประชุมวิดีโอ Conference ระหว่างส่วนราชการภาคเอกชน และภาคเกษตกร เพื่อติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ว่า ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผลไม้เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยที่ประชุมได้สรุปแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ที่ได้ขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแบ่งออกเป็น 8 มาตรการ ดังนี้ คือ
1.มาตรการด้านการผลิต ได้แก่ 1) การบริหารจัดการเรื่องแรงงานเก็บผลไม้ โดยจะมีการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขต ขยายการต่อใบอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอีก 3 เดือน และเน้นการตรวจสุขภาพให้แก่แรงงานทุกราย 2) การดูแลความเป็นธรรมเรื่องราคาและปริมาณ จะมีการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามาควบคุม 3) การส่งเสริมให้มีการทำคอนแทรกฟาร์มมิ่ง เกษตรพันธะสัญญา 4) การเชื่อมโยงการกระจายผลไม้ผ่านห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และผู้บริโภคโดยสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ ขนาด 5 กิโลกรัม (กก.) 10 กก. และ 20 กก. ให้แก่เกษตรกร
2.มาตรการด้านตลาดในประเทศ ได้แก่ 1) ภาครัฐจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยขอความร่วมมือไปรษณีย์ไทยมาช่วยในการจัดส่งผลไม้ ฟรี 200 ตัน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 2) การผลักดันให้นำผลไม้จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายผลไม้ทางช่องทางออนไลน์ และ 3) การรณรงค์การบริโภคผลไม้ในประเทศ (Eat Thai First) เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้บริโภคผลไม้ไทยเกรด Premium ในราคายุติธรรมตามฤดูกาล และส่งเสริมให้นำผลไม้มอบเป็นของฝากของขวัญ
3.มาตรการด้านตลาดต่างประเทศ ได้แก่ 1) เดินหน้าการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในรูปแบบออนไลน์ให้มากขึ้น และ 2)มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งส่งเสริมการขายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และประสานการจัดหาสินค้านำเข้า ไทยเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศจากไทย 4) การสนับสนุนค่าขนส่งทางอากาศ
4.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) ช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้ในอัตรา 3% ระยะเวลา 10 เดือน 2) ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่รวบรวมผลไม้เพื่อส่งออกในอัตรา 3% ระยะเวลา 6 เดือน และ 3) ช่วยค่าใช้จ่ายรวบรวมเพื่อส่งออกอีกกิโลกรัมละ 3 บาท เป้าหมาย 1 หมื่นตัน
5.มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเตรียมมาตรการช่วยลดภาระทางการเงิน ซึ่งมอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งได้ขอความร่วมมือ ธ.ก.ส. ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร โดยบอร์ด ธ.ก.ส. ได้พิจารณาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ดังนี้
1) ให้ปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ โดยปลอดการชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ระยะเวลาการดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 คือ เกษตรกรหรือลูกหนี้รายบุคคล ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 15 ปี, กรณีผู้ประกอบการและสถาบัน ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 20 ปี
2) สนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้เกษตรกร สถาบันเกษตร และผู้ประกอบการเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องดำเนินธุรกิจ ดังนี้คือ รายบุคคล ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย -0.25 จากสินเชื่อปกติ, – สถาบัน วงเงินไม่จำกัด อัตราดอกเบี้ย MLR -0.5
6.มาตรการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการมาตรฐานผลไม้ ได้แก่ สร้าง Central Lap ของไทยกรณีสินค้าเกษตรส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะไม่มีการตรวจสอบซ้ำที่ด่านปลายทาง ทั้งนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานฝ่ายจีน และเร่งออกใบรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 70,000 แปลงให้เกษตรกรไทย รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ด้านเทคนิคการบรรจุห่อเพื่อยืดอายุผลไม้ในยาวนานขึ้น
7.มาตรการเก็บรักษาและแปรรูปสร้างมูลค่าผลไม้โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
7.1 ผลไม้ส่วนเกินนำเข้าสู่ระบบการเก็บรักษาด้วยการอบการแช่เย็นและวิธีอื่นๆ
7.2 การแปรรูปผลไม้เป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับตลาดในและต่างประเทศ
8. มาตรการเพิ่มปริมาณการบริโภคภายในประเทศและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งระบบโลจิสติกส์และการจำหน่ายผลไม้ทุกชุมชนทั่วประเทศโดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผลไม้ร่วมกับผู้ประกอบการผลไม้และผู้ประกอบการบริการโลจิสติกส์โดยการสนับสนุนงบประมาณของคชก.และกระทรวงพาณิชย์รวบรวมผลผลิตขนส่งและจำหน่ายทั่วประเทศผ่านร้านธงฟ้า สหกรณ์ รถเร่และตลาดชุมชนกว่า 70,000 จุด และขอความร่วมมือหน่วยราชการส่วนกลาง/ภูมิภาค/ท้องถิ่น-รัฐวิสาหกิจ-องค์กรมหาชน-รัฐสภา-องค์กรอิสระกว่า 10,000 หน่วย เพื่อช่วยซื้อผลไม้โดยแจ้งปริมาณจะจัดส่งทุก 5 วันและขอความร่วมมือเป็นจุดขาย