สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ ( 6-10 เม.ย.63)ประเภทพืชพาเหรดขึ้นราคา แต่ด้านปศุสัตว์ลดลง

  •  
  •  
  •  
  •  
       สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ วันที่ 6-10 เมษายน 2563

ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น

       สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นจากหาบละ 513 บาท เป็นหาบละ 522 บาท เนื่องจากการขนส่งข้ามจังหวัดติดเวลาเคอร์ฟิว ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง 

       ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 8 เมษายน 2563 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 330.0 เซนต์/บุชเชล ราคาอ่อนตัวลง กำลังการผลิตเอทานอลของสหรัฐอเมริกา ยังคงมีแนวโน้มต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบซึ่งทำให้กำไรที่ได้ (Ethanol margin) ไม่จูงใจต่อการผลิต และยังคาดว่าจะมีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้นอีกในสัปดาห์หน้า ส่งผลให้การผลิตเอทานอลในปี 2019/20 ลดต่ำลงกว่าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ไว้
        ด้านสภาพการณ์อากาศในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหลักแถบบริเวณมิตเวสต์ (US Midwest) คาดการณ์ว่ามีปริมาณน้ำฝนเล็กน้อย ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเร่งทำการเพาะปลูกข้าวโพดฤดูกาล 2020/21 ได้ และในสัปดาห์นี้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) จะมีการประกาศรายงานภาวะอุปสงค์-อุปทานสินค้าเกษตรโลก (WASDE) ฉบับเดือนเมษายน โดยมีแนวโน้มราคาทรงตัว
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง 
 
ถั่วเหลือง : ราคาเพิ่มขึ้น
       สัปดาห์นี้ ราคากากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 13.75 บาท เป็นกิโลกรัมละ 13.95 บาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอเมริกาเหนือและใต้ แหล่งผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
       ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 8 เมษายน 2563 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 854.5 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 292.8 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน โดยขณะนี้ประเทศในแถบอมเริกาใต้มีสถานการณ์การส่งออกถั่วเหลืองที่ดีขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการส่งออกถั่วเหลืองของบราซิลที่ 12.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 35% และค่าเฉลี่ยห้าปีที่ 43% นอกจากนี้ค่าเงินบราซิล (USD:BRL) ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ซื้อถั่วเหลืองหันไปนำเข้าจากบราซิลเพิ่มขึ้น และนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลง และสภาพอากาศปัจจุบันในอาร์เจนตินา ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วเหลืองฤดูกาล 2019/20 โดยมีแนวโน้มราคาอ่อนตัวลง
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะยืนแข็ง
ปลาป่น : ราคาเพิ่มขึ้น
       ราคาปลาป่นในสัปดาห์นี้ ปรับเพิ่มขึ้น 2 บาท ทุกเบอร์ เนื่องจากตลาดจีนมีภาวะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ต่างๆ มีราคาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการบริโภคของประชาชนจีนที่กลับมาอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ และภาวะด้านผู้ผลิตอย่างประเทศเปรูที่ยังไม่สามารถประกาศโควต้าการจับปลาได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ทำให้มีความกังวลในด้านปริมาณผลผลิต (Supply) ที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้
       ปลาป่นเกรดกุ้งราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 36.00 บาท เป็นกิโลกรัมละ 38.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 32.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 34.20 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 29.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 31.70 บาท
        ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 29.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 3ลลล1.20 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 เพิ่มขึ้นจากราคากิโลกรัมละ 26.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 28.70 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะยืนแข็ง
ข้าว : ราคาข้าวเพิ่มขึ้น
       ในสัปดาห์นี้ ตลาดซื้อ-ขายข้าว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ราคาข้าวยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะภัยแล้ง และประกอบกับผู้ส่งออกอย่าง เวียดนาม กัมพูชา และ อินเดีย จำกัดการส่งออก ทำให้คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 580 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 595 เหรียญสหรัฐฯ
       ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาทรงตัวที่ตันละ 439 เหรียญสหรัฐฯ ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,750 บาท เป็นกระสอบละ 1,800 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาทรงตัวที่กระสอบละ 1,300 บาท 
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะยืนแข็ง
สุกร : ราคายืนอ่อน 
      จากมาตรการลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การจำกัดเวลาเคอร์ฟิว การปิดให้บริการร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานที่เสี่ยงต่างๆ การเข้มงวดเรื่อง Social Distancing งดการสังสรรค์ ประกอบกับการเปิดพรมแดนมีข้อจำกัด 1 ด่าน 1 จังหวัด ทำให้การบริโภคเนื้อสุกรโดยรวมลดลง ส่งผลให้ราคาประกาศสุกรหน้าฟาร์มจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในสัปดาห์นี้ ยืนอ่อนที่กิโลกรัมละ 65-71 บาท
     ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 1,900 บาท (บวก/ลบ 64)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว  
ไก่เนื้อ : ราคายืนอ่อน
      จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการการลดการแพร่ระบาดของภาครัฐ อาทิ เคอร์ฟิว การปิดให้บริการร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานที่เสี่ยงต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้การบริโภคเนื้อไก่โดยรวมลดลง สต๊อกไก่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ราคายืนอ่อนที่กิโลกรัมละ 33 บาท ด้านลูกไก่เนื้อราคาตัวละ 8.50 บาท และลูกไก่ไข่ราคาตัวละ 26.00 บาท  
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว  
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
       ในสัปดาห์นี้สถานการณ์ไข่ไก่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ปริมาณผลผลิตกลับมามีเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ผลจาก นโยบายของรัฐ ความร่วมมือของเกษตรกร ผู้ค้า และภาคเอกชน โดยราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ราคาทรงตัวที่ฟองละ 2.80 บาท  
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
ที่มา :สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF