พิษ”ภัยแล้ง-โควิด”ฉุดจีดีพีเกษตร Q1 หดตัว 4.8% สศก.มั่นใจหลังสถานการณ์คลี่คลาย ส่งออกสดใสต่อเนื่อง

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                 ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

พิษ”ภัยแล้ง-โควิด” ฉุดจีดีพีเกษตร Q1 หดตัว 4.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 62 สศก.เชื่อหลังสถานการณ์คลี่คลาย ความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มแน่ ดันส่งออกสินค้าเกษตรสดใสต่อเนื่อง คาดปี 63 ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัว 0.3%

      นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 (ม.ค. – มี.ค.63) หดตัว 4.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2562 สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

       ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช หดตัว 7.3% เป็นผลจากผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ลดลง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ผลผลิตเสียหาย และมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเติบโตของพืช ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง โดยผลผลิตพืชที่สำคัญของไตรมาส 1 ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่ผ่านมา 41.2% ผลผลิตลดลง 41.6% อ้อยโรงงาน ผลผลิตลดลง 12.7% และมันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลง 5.4%

       สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 3.8% เป็นผลจากปริมาณความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายการผลิต ประกอบกับประเทศไทยมีการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด ตลาดต่างประเทศมีความเชื่อมั่น สาขาประมง หดตัว 2.2% ประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน

     ส่วนประมงน้ำจืดมีผลผลิตลดลง โดยเฉพาะปลานิลและปลาดุก เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแหล่งผลิตสำคัญ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดทั้งในบ่อดินและในกระชังตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดเนื้อที่เลี้ยงปลาลง สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 1.3% เนื่องจากไตรมาส 1 เป็นช่วงการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรในการเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลง

     ขณะที่สาขาป่าไม้ ขยายตัว 1.0% ไม้ยูคาลิปตัส เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ไม้ยางพารา ขยายตัวตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการไม้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และ Wood Pellet ถ่านไม้ มีความต้องการจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร


     สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 0.3% โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ยังขยายตัวได้ มีการบริหารจัดการทั้งในด้านการผลิตและการตลาดที่ดี สำหรับสาขาพืชมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าจะสามารถทำการเพาะปลูกได้ตามฤดูกาลปกติ ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ภาคเกษตรขยายตัว คือหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเริ่มมีคำสั่งซื้อข้าวไทยและสินค้าที่เป็นอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น

      นอกจากนี้ ในส่วนของมันสำปะหลังก็มีความต้องการมันเส้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์ 75% และใช้ผสมทำเจลล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำให้แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงถุงมือทางการแพทย์ ถุงมือยาง อาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ขณะที่ยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน โดยอาจทำให้ภาวะการค้า การเดินทาง และการขนส่งกระจายสินค้า ได้รับผลกระทบในช่วงแรก และการที่ราคาน้ำมันลดลง จะส่งผลให้ราคายางพาราและราคาพืชพลังงานทดแทนไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ผันผวน อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าลดลง และส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ

      อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้มีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ โควิด-19 เช่น การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นภายใต้แนวคิด Eat Thai First การหาตลาดใหม่เพิ่มเติมจากเดิม และส่งเสริมการแปรรูปและการกระจายสินค้าเกษตรอย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ได้เตรียมการรองรับแรงงานที่จะไหลกลับไปสู่ภาคเกษตร (Labor Migration) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา