ก.เกษตรฯ โชว์ความเปิดตลาดฮาลาลสู่โลกอาหรับได้สำเร็จ

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ โชว์ความสำเร็จ นโยบายผลักดันอาหารฮาลาสไทยสู่ตะวันออกกลาง เน้นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ชี้เป็นโอกาสทองของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประเภทสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์เนื่องจากมีผู้บริโภคกว่า 2,000 ล้านคน คาดจะสามารถช่วยดึงเงินเข้าประเทศได้ถึงปีละ 1,000 ล้านบาท

     นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลสำเร็จของนโยบายการผลักดัน และขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไทยไปยังตลาดโลกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงเกษตแรละสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการผลักดัน และขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไทยไปยังตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยมีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งมาถึงวันนี้ได้มีผลสำเร็จให้เห็นอย่างเด่นชัด หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแก่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ สกอท. CICOT ซึ่งเป็นหน่วยรับรองสินค้าฮาลาลไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารองค์การศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เพื่อยกระดับการตรวจสอบและรับรองสินค้าอาหารฮาลาลไทย

 

     ล่าสุดการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพัฒนาระบบตามมาตรฐานสากล ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (IHAF BoD) ครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงานฮาลาล (International Halal Accreditation Forum, IHAF) ระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม Grand Hyatt Dubai รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางมกอช. ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมได้ร่วมเป็นสมาชิกแบบ Full Members อีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงานฮาลาล (International Halal Accreditation Forum, IHAF) ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร (Board of Director, BoD) และร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร (IHAF BoD) ครั้งที่ 7 ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยรับรองระบบงานจากประเทศสมาชิกจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิยิปต์ กลุ่มอ่าวอาหรับ ปากีสถาน ไทย สหรัฐอเมริกา ฮังการี และอิตาลี ร่วมการประชุมดังกล่าว 

     ด้าน นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการนี้ มกอช. ได้ร่วมพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อขับเคลื่อน IHAF ให้เป็นเวทีด้านการรับรองระบบงานฮาลาลของโลก โดยมีประเด็นที่สำคัญ ใน 3 มิติ คือ 1) การสร้างระบบที่อำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าฮาลาล โดยสร้างการระบบการยอมรับสินค้าฮาลาลระหว่างประเทศสมาชิก และสร้างพันธมิตรกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศ

    2) การสร้างแผนประชาสัมพันธ์ให้ IHAF เป็นที่รู้จักในระดับสากลทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และหน่วยตรวจสอบและรับรองที่เกี่ยวข้อง และ 3) การสร้างระบบการบริหารจัดการภายใน IHAF ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และตอบสนองตามความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง
     ทั้งนี้ ร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการ คาดว่าจะประกาศใช้ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ซึ่ง มกอช. ได้เตรียมความพร้อมการรองรับร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย มกอช. มีผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหาร ที่พิจารณาและกำหนดในระดับนโยบาย และคณะกรรมการต่าง ๆ ในระดับทางเทคนิคและการดำเนินการ
      นอกจากนี้ประเด็นที่ประสบความสำเร็จล่าสุดอีกประการได้แก่ การบรรลุข้อตกลงกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE จากการนำทีมไปเจรจาเมื่อปลายเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยทางฝ่าย UAE ตอบรับข้อเสนอฝ่ายไทย ส่งผลให้ UAE เร่งจัดส่งทีมตรวจประเมินของ UAE มาตรวจประเมิน สกอท. (CICOT) ผ่านการรับรองระบบงาน เป็นหน่วยรับรองฮาลาลตามมาตรฐาน UAE.S 2055-2: 2015 และ OIC/SMIIC 1: 2019 ตามกฎหมายใหม่ของ UAE ในขอบข่าย 4 ประเภท คือ 1) ขอบข่าย C (โรงเชือดสัตว์ปีก และการแปรรูปสัตว์ปีก/ไข่/ผลิตภัณฑ์นมและอาหารทะเล) 2) ขอบข่าย D (ผัก/ผลไม้สด น้ำผลไม้) 3) ขอบข่าย E (อาหารกระป๋อง) และ 4) ขอบข่าย L (สารปรุงแต่งอาหาร) จาก Emirates International Accreditation Centre (EIAC) เป็นที่เรียบร้อย

      “จากผลการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลดีทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหารการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล โดยเฉพาะสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ไปยัง UAE และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลางได้ เนื่องจาก UAE เป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 2,000 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่า จะช่วยสร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าฮาลาลไทย ได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี” นายครรชิต กล่าว