สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ ข้าวโพด-ถั่วเหลืองลดลง ข้าวขยับขึ้นต่อเนื่อง

  •  
  •  
  •  
  •  

       สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ วันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2563

ข้าวโพด : ราคาลดลง
        ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ในสัปดาห์นี้ ปรับลดลงจากหาบละ 516 บาท เป็นหาบละ 513 บาท
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 385.5 เซนต์/บุชเชล ตัวเลขการส่งออกข้าวโพดของสหรัฐฯ มีแนวโน้มต่ำกว่าการคาดการณ์ ทำให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (WASDE) ปรับยอดการส่งออกลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 50 ล้านบุชเชล ขณะที่สภาพอากาศของบราซิลเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืช กระทรวงเกษตรบราซิล (CONAB) จึงออกประกาศตัวเลขคาดการณ์ผลผลิตข้าวโพดอยู่ที่ 100.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 98.7 ล้านตัน จากที่คาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า โดยแนวโน้มราคาข้าวโพดตลาดต่างประเทศน่าจะอ่อนตัว
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะทรงตัว

ถั่วเหลือง : ราคาลดลง


        เนื่องจากผลผลิตจากอเมริกาใต้เพิ่มขึ้น และความต้องการจากจีนลดลง ส่งผลให้ราคากากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าสัปดาห์นี้ ลดลงจากราคากิโลกรัมละ 13.75 บาท เป็นกิโลกรัมละ 13.50 บาท
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 905.0 เซนต์/บุชเชล และกากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 298.75 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาถั่วเหลืองปรับตัวแข็งขึ้นเล็กน้อย จากการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะสามารถส่งออกถั่วเหลืองได้มากขึ้น อีกทั้งมีคำสั่งซื้อล็อตใหม่จากผู้ซื้อรายใหญ่ของจีน หลังจากที่สำนักงานภาษีจีนเริ่มรับคำร้องขอยกเว้นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า บางรายการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทำให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ปรับยอดการส่งออกขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาจาก 1,775 ล้านบุชเชล ไปอยู่ที่ 1,825 ล้านบุชเชล ส่งผลให้สต๊อกถั่วเหลืองคาดการณ์ต่ำลงอยู่ที่ 425 ล้านบุชเชล แนวโน้มราคาต่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว

ปลาป่น : ราคาทรงตัว
        สัปดาห์นี้ ตลาดจีนเริ่มเปิดทำการในบางพื้นที่ แต่ก็ยังมีความกังวลถึงการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้การบริโภคยังไม่กลับมาคึกคักเหมือนเดิม ประกอบกับการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงน้ำแล้ง ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมทรงตัว โดยปลาป่นเกรดกุ้งยืนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 35.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 31.20 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคากิโลกรัมละ 28.70 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 28.20 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคากิโลกรัมละ 25.70 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว

ข้าว : ราคาเพิ่มขึ้น


        เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้น โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 464 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 470 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ยืนราคาที่ตันละ 414 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,300 บาท เป็นกระสอบละ 1,320 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาทรงตัวที่กระสอบละ 1,150 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะเพิ่มขึ้น

สุกร : ราคายืนอ่อน
        ราคาประกาศสุกรหน้าฟาร์มจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในสัปดาห์นี้ ยืนอ่อนที่กิโลกรัมละ 67-74 บาท เนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยกระทบการท่องเที่ยวและการจับจ่าย
ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,100 บาท (บวก/ลบ 66)
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนอ่อน

ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว


        ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 35 บาท เนื่องจากความกังวลของประชาชนในการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การจับจ่ายและการท่องเที่ยวลดลง
ด้านลูกไก่เนื้อราคาตัวละ 15.50 บาท และลูกไก่ไข่ราคาตัวละ 28.00 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว

ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
        ไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ยืนราคาอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท โดยปริมาณผลผลิตยังคงสมดุลกับความต้องการบริโภค แม้ว่าการจับจ่ายลดลงเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และการระบาดของไวรัส COVID-19
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF