มิติใหม่ ธ.ก.ส.สู่เป็นธนาคารพัฒนาชนบท ชูธุรกิจชุมชนสร้างไทยเป็นฐานฟื้นเศรษฐกิจสร้างความยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                     สมเกียรติ กิมาวหา(กลาง)

ธ.ก.ส.เปิดศักราชใหม่ ปี 2563 สู่การเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท พร้อมเพิ่มยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการผ่านโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย แสดงตัวอย่างการขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน โดยใช้การพัฒนากาแฟคุณภาพแบบครบวงจรที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวจังหวัดระนอง

      นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. เป็นธนาคารที่อยู่เคียงข้างเกษตรกรและภาคเกษตรมายาวนาน และยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน เน้นสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท รวมถึงการเพิ่มยุทธศาสตร์ของธนาคารจากเดิม 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาการบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรและบุคลากรรองรับภารกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารจัดการรายได้รวมและต้นทุนรวมให้สมดุลและมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างและพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร SMAEs

       ยุทธศาสตร์ที่ 5เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรายย่อยด้วยกลไก Smart Farmer ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร SMAEs และสถาบันเกษตรกร และเพิ่มยุทธศาสตร์ที่ 6คือ พัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากซึ่งธนาคารได้กำหนดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

       นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในกิจกรรมการผลิต กิจกรรมการซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยมีโมเดลในการขับเคลื่อนที่เริ่มต้นจากการค้นหาศึกษาความต้องการของชุมชน ปัญหา แนวทางพัฒนาแก้ไข โอกาสและศักยภาพของชุมชนจากนั้นจึงเริ่มสร้างความเข้มแข็ง

       โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นต้นในการให้ความรู้ สนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Smart Farmer ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น

       ด้านการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อจัดตั้งหน่วยงานที่ขับเคลื่อนโครงการนี้โดยตรง และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจชุมชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางผสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 3 ปี  และสินเชื่ออื่น ๆ ตามแผนธุรกิจที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุมชน

       ทั้งนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกร สถาบันการเงินประชาชน วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน SmartFarmer SMEs เกษตรที่เป็นหัวขบวน และสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้ ยังมุ่งสร้างและพัฒนา Smart Farmer ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร ปีละ 100,000 ราย และส่งเสริมการเติบโตของ SME เกษตร ให้เป็นหัวขบวน ปีละ 10,000 รายตลอดจนปรับเปลี่ยนภารกิจที่ทำร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเดิมธนาคารเป็นเพียงผู้ให้บริการและสนับสนุนสินเชื่อ มาเป็นการทำแผนแม่บทชุมชนร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจนและเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

        สำหรับการสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระนองนั้น มีตัวอย่างการดำเนินธุรกิจของ “ก้องวัลเลย์” ซึ่งเป็นหัวขบวนในการนำเมล็ดกาแฟจากหลายกลุ่มเช่น กลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมบ้านในกรัง วิสาหกิจชุมชนบ้านสองแพรกกลุ่มอิ่วเมี่ยนคุณธวัช คนหลัก และจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ระนอง จำกัด (สกต.ระนอง) เป็นต้นมาทำเป็นกาแฟคั่วบด มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

         ในส่วนของสกต.ระนอง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อกว่า 20 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตกาแฟ และผลไม้ชนิดอื่น ๆ จากเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ส่งขายให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ที่ต้องการนำผลผลิตทางการเกษตรไปแปรรูป นอกจากนี้ยังมีชุมชนท่องเที่ยวเกาะพยาม ที่ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่งดงามของชุมชนมาจัดทำโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการจัดทำโฮมสเตย์ และนำผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน เช่น กาหยูหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์  มาแปรรูปเป็นสินค้าพร้อมรับประทานและเป็นของฝาก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง