“สนธิรัตน์” ชี้ชัดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ คนในชุมชนต้องได้ประโยชน์ สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นตัวตั้ง ระบุการเขียนโครงการที่จะเสนอต้องระบุด้วยว่า พืชพลังงานที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรต่อไร่ต่อปีเท่าไร และต้องให้ดีกว่าของเดิมที่ปลูกอยู่แล้ว ย้ำในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องหญ้าเนเปียร์เป็นวัตถุดิบเหมือนกันหมด ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวแปรแต่ละท้องถิ่น ที่สำคัญจะต้องคืนส่วนแบ่งรายได้ให้ชุมชน 25 สตางค์ต่อหน่วย และให้เขียนโครงการด้วยว่า จะนำเงินเหล่านี้ไปต่อยอดทำอะไรบ้าง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ ว่า หัวใจใหญ่ที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ที่ผลประโยชน์ของชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จากการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้น เวลาแต่ละพื้นที่เขียนโครงการมานำเสนอจะต้องคำนึ่งถึงหลักเกณฑ์นี้เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการพิจารณา ยกตัวอย่าง โรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้ไบโอแมสเป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าจะต้องนำเสนอว่า ชุมชนใกล้เคียงสามารถขายวัตถุดิบที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อย และเศษไม้ในพื้นที่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุดิบที่เป็นพืชพลังงานที่ปลูกใหม่เสมอไป เพราะวัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำมาจากชุมชนใกล้เคียงด้วยการอัดแท่งนำมาขาย สามารถสร้างรายได้ และลดการเผาที่สร้างฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 ได้อีกทางหนึ่งด้วย
อีกอันหนึ่ง หลักการของโรงไฟฟ้าชุมชนกระทรวงพลังงานต้องการให้พี่น้องเกษตรกรมีความมั่นคง การเขียนโครงการเสนอต้องระบุด้วยว่า พืชพลังงานที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนต้องสามารถสร้างรายได้ต่อไร่ต่อปี ให้ดีกว่าของเดิมที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว อย่างเช่น การปลูกหญ้าเนเปียร์ สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 2-3 หมื่นต่อไร่ต่อปี ซึ่งดีกว่าการปลูกข้าว มัน ข้าวโพด ที่มีรายได้หลักพันต่อไร่ต่อปี ดังนั้น แสดงว่าการปลูกเกษตรชนิดใหม่ ทำให้ชีวิตเกษตรดีขึ้น ประการต่อมาสามารถสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร เพราะมีการทำพันธสัญญาขายวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่สินค้าเกษตรกรมีการรันตีความมั่นคงรายได้ที่ยาวนานมาก จากเดิมที่ปลูกแล้วไม่รู้จะขายที่ไหน ราคาเท่าไหร่ หรือบางทียังไม่รู้เลยว่าคนซื้อยังจะรับซื้ออยู่หรือไม่
“แปลว่า โชคดีมาก ถ้าโรงไฟฟ้าชุมชนไปตั้งที่ไหน เพราะราคาหญ้าเนเปียร์อยู่ที่ 2-3 หมื่นบาทต่อไร่ต่อปี จากเดิมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวได้หลักพันต่อไร่ต่อปี ถ้าปลูกหญ้าเนเปียร์ 10 ไร่ แสดงว่าแต่ละครอบครัวจะมีรายได้ 2 แสนต่อปี แปลว่า เกษตรกรมีความมั่นคง มีรายได้ทุกปี ตลอด 20 ปี เป็นครั้งแรกที่ชีวิตมีความมั่นคง และจะเป็นหัวใจการพิจารณาโครงการด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
รมว.กระทรวงพลังงาน ยังแนะนำในการเขียนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเสนอการพิจารณาด้วยว่า ไม่ใช่ว่าทุกโครงการที่เสนอการใช้วัตถุดิบเป็นหญ้าเนเปียร์ป้อนโรงไฟฟ้าเหมือนกันจะได้รับการอนุมัติเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวแปรแต่ละพื้นที่ เวลาเขียนโครงการนำเสนอจึงต้องบอกด้วยว่า พื้นที่โครงการที่เสนอมีความยากจน แห้งแล้ง ปลูกพืชอะไร มีรายได้เท่าไหร่ แล้วจะไปช่วยเหลือสร้างรายได้อย่างไร เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตจากเดิมที่มีอยู่ได้อย่างไร ซึ่งจะได้คะแนนเพิ่มในตรงนี้ เพราะจะช่วยคนได้จำนวนมาก คนยากจนเหล่านี้เขาไม่รู้จะไปทำอะไรจริงๆ
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไปตั้งที่ไหนจะทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงทั้งด้านรายได้ การสร้างอาชีพ การเสนอโครงการถ้าวิสาหกิจชุมชนใส่จำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการด้วยมากกว่า 200 ครัวเรือน ก็ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น เพราะได้ช่วยเหลือคนได้วงกว้างมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่านี่เป็นหลักใหญ่ของโรงไฟฟ้าชุมชน
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ตามกรอบการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องคืนส่วนแบ่งรายได้ให้ชุมชน 25 สตางค์ต่อหน่วย การเขียนโครงการว่า จะนำเงินดังกล่าวไปต่อยอดทำอะไรบ้าง ก็จะเป็นข้อได้เปรียบในการพิจารณาโครงการ อย่างเช่น มีคนมาเล่าให้ตนฟังว่า จะนำเงินทั้งหมดที่มาจากส่วน 25 สตางค์ ไปตั้งกองทุนฯ ทำให้เด็กในชุมชนปลอดจากยาบ้า บางชุมชนมีการประชาคมกันแล้วจะเอาเงินส่วนแบ่ง 25 สตางค์ ไปฟื้นวัฒนธรรมประเพณีของตัวเอง เช่น การแข่งเรือที่หายไป เพราะไม่มีงบประมาณจัดงานมานานแล้ว บางโรงไฟฟ้าจะเอาลูกหลานของพี่น้องเกษตรในหมู่บ้านมาทำงาน บางแห่งบอกจะไม่รับคนข้างนอกเข้าทำงาน จะเอาลูกหลานชาวบ้านมาฝึก มาสร้างอาชีพสารพัดช่าง สามารถต่อน้ำ ต่อไฟ ซ่อมเครื่องมือต่างๆ สามารถสร้างอาชีพ สิ่งเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ชุมชน เป็นต้น ซึ่งการประชาคมกับชาวบ้านที่ร่วมโรงไฟฟ้าชุมชนถือเป็นหัวใจสำคัญ
ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เกิดมิตรภาพ เกื้อซึ่งกันและกัน ป้องกันการเกิดปัญหาตามมาภายหลัง เพราะจะทำงานอยู่ด้วยกันนานถึง 20 ปี บางโครงการบอกว่า ทำแล้วชุมชนทั้งหมดจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง หมายความว่า ชาวบ้านจะยืนอยู่ได้จริง แสดงว่ามีกลไกมากกว่ารายได้จากการขายเชื้อเพลิง ทำให้มีการสร้างสมดุลในชุมชน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพืชประเภทเดียว ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่ยั่งยืน ถ้ามีอย่างนี้ขอบอกได้เลยจะมีน้ำหนักกว่าคนที่ไม่มีในส่วนนี้
“ทั้งหมดที่พูดมา ผมบอกใบ้ข้อสอบการเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน เจตนาคือ อยากให้เข้าใจว่า แนวคิดที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าชุมชน หัวใจเรื่องนี้คือ เศรษฐกิจชุมชนข้างล่างต้องเข้มแข็ง อันเกิดจากการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ถ้าถามว่า ทำอย่างไรถึงจะได้โรงไฟฟ้าชุมชน ผมบอกว่า ก็ทำตามที่บอกไว้ข้างต้น ผมใบ้ไว้แค่นี้ ไปเขียนโครงการกันเอาเอง เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่อย่าเขียนทื่อๆ มาให้ผม มีแต่ตัวเลข ไม่มีเนื้อหาอย่างที่ผมพูดเลย เวลาเสนอมา คำว่า ประชาคม กับ “ชุมชน นี่เป็นหัวใจนะครับ” รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวและว่า ขณะนี้เขากำลังจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบไส้ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยเฉพาะ และเข้าไปสัมภาษณ์ชุมชนทุกแห่งว่ามีความสัมพันธ์ที่ดี มีการการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการ มีการทำประชาคม และชุมชนเกิดจากร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ