สยามคูโบต้า เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี-นวัตกรรม ดันภาคเกษตรอาเซียนให้เป็น”เกษตรอัจฉริยะ”เป้าปีนี้โต 5-10%

  •  
  •  
  •  
  •  

                   จากซ้ายตั้งแต่คนที่ 2 สมศักดิ์ มาอุทธรณ์- ทาคาโนบุ อาซึมะ-พิษณุ มิลินทานุช

 สยามคูโบต้า ประกาศจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตร หวังเนรมิตภาคเกษตรกรรมอาเซียนเป็น “เกษตรอัจฉริยะ” เน้นเกษตรแม่นยำ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี IoT เซ็นเซอร์, GPS Telematics และ โดรนเพื่อการเกษตร มาบริหารจัดการผลผลิตในภาคเกษตรกรรมพร้อมวางกลยุทธ์การตลาดแบบ On Your Side ร่วมกับการนำระบบ Omni Channel มาพัฒนาระบบจัดจำหน่าย คาดปีนี้ผลประกอบการจะโต 5-10 % หลังที่ผลประกอบการในปีที่ผ่านมามียอดขายรวม 5.4หมื่นล้านบาท

   

    นายทาคาโนบุ อาซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา แนวโน้มภาคการเกษตรทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องเกษตรอัจฉริยะ และเกษตรอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรทั่วโลก คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยบริหารจัดการฟาร์ม เพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุน ตลอดจนทำให้การเกษตรเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ในส่วนของประเทศไทยนั้นสยามคูโบต้า ได้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งให้ผลประกอบการในปี 2562 มียอดขาย 54,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนในประเทศ : ต่างประเทศ เท่ากับ 33,000 ล้านบาท : 21,000 ล้านบาท ด้วยมูลค่ายอดขายในประเทศเติบโตเกือบ 10% จากปีก่อนหน้า สำหรับปี 2563 สยามคูโบต้าตั้งเป้าเติบโตในอัตรา 5-10%

 

    “เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 คูโบต้า มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะทำให้แบรนด์คูโบต้า เป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก หรือ “Global Major Brand (GMB)” ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและอะกริโซลูชั่นให้กับลูกค้าที่มีทั่วโลก พร้อมเป็นองค์กรที่ตอบแทนสังคม ไม่เพียงแต่จะมุ่งพัฒนาภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของไทยและอาเซียน แต่ยังคำนึงถึงความรับผิดชอบที่จะส่งมอบสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรของอาเซียนอย่างแท้จริง เพื่อให้ภาคการเกษตรกรรมของอาเซียนนั้นเป็นเกษตรอัจฉริยะ” นายทาคาโนบุ อาซึมะ กล่าว

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยนั้นในปีนี้ สยามคูโบต้าได้จัดจัดงบประมาณเพิ่มเติมอีก  300  ล้านบาทเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย ในจำนวนนี้จะมีการปรับปรุงโดยเฉพาะตัวอาคาร ศูนย์เรียนในคูโบต้า ฟาร์ม ที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นเงิน 150 ล้านบาท ในพื้นที่ 220 ไร่ ส่วรอีก 92 ล้านบาทจะมีการพัฒนาโรบอทรถดำนาที่โรงงานในเขตอุสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี เพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่เหลือจะเป็นพัฒนารถแทรกเตอร์ของคูโบต้าให้มีความหลากหลายและเหมาะกับประเทศไทยที่โรงงานในนิคมอมตะนคร จ.ระยอง

      ด้านนายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม ประกอบกับสงครามทางการค้าส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาผลผลิตปรับตัวลดลง ส่งผลให้ภาพรวมของภาคการเกษตรของไทยมีการผันผวนเล็กน้อย อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (GDP ภาคเกษตร) เติบโตขึ้น 0.5% จากปีที่ผ่านมาโดยมีพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ทางภาครัฐได้แก้ไขปัญหาโดยการออกนโยบายด้านสินเชื่อ มาตรการประกันรายได้และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในการซื้อเครื่องจักรเพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน ซึ่งทางสยามคูโบต้าก็ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

       จากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า แนวโน้มตลาดเกษตรอัจฉริยะจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 19% ต่อปี สยามคูโบต้าจึงได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี IoT เซ็นเซอร์ นวัตกรรมการถ่ายภาพที่ส่งให้เกษตรกรได้แบบเรียล ไทม์ (Real Time) ทำให้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของพืชที่ปลูก ทำให้รับทราบปัญหาเพื่อแก้ไขได้ทันการณ์

      นอกจากนี้ยังมีระบบบริหารจัดการเครื่องจักร อาทิ ระบบ KIS (Kubota Intelligence Solutions) ที่นำ GPS Telematics มาช่วยบริหารจัดการเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำเกษตรได้อย่างแม่นยำ (Precision Agriculture) และยังมีการนำโดรนมาใช้ฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ทางการเกษตรแทนแรงงานคน รวมทั้งการจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในฟาร์มด้วย พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจัดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมการเกษตรระดับนานาชาติ (Global AgTech Acceleration Program) เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ

     “ สยามคูโบต้า จะเดินหน้าจัดทำโครงการเกษตรปลอดการเผา Zero Burn ที่ร่วมมือกับภาครัฐลดปัญหาที่เกิดจากการเผาของภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โครงการเกษตรปลอดนาหว่าน Zero Broadcast ที่ส่งเสริมกลุ่มเกษตรนาแปลงใหญ่ทำเกษตรประณีตด้วยวิธีดำนา และหยอดเมล็ด เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรยังนิยมทำนาหว่านต้องใช้เมล็ดพันธุ์ซึ่งราคาแพงถึงไร่ละ 30 กก.ถ้าทำนาโดยวิธีดำนา หรือหยอดเมล็ด จะใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 8-10 nก.เท่านั้นส่วนนี้ประหยัดแล้วไร่ละ 300-400 บาท และในปีนี้สยามคูโบต้าจะเปิดให้บริการ KUBOTA Farm อย่างเต็มรูปแบบ โดยนำแนวคิด KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS ซึ่งเป็นการจัดการเกษตรกรรมครบวงจรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้ามาประยุกต์ใช้จริง ผสานกับนวัตกรรมเกษตรของคูโบต้า เพื่อเป็นฟาร์มสร้างประสบการณ์การเกษตรสมัยใหม่ในภูมิภาคอาเซียน มุ่งยกระดับภาคการเกษตรอาเซียนเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการผลิตแบบยั่งยืน” นายสมศักดิ์ กล่าว

      ขณะที่นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ เปิดเผยว่า กลยุทธ์ทางการตลาดในปีนี้จะมุ่งเน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการมองผ่านมุมมองของลูกค้า รวมถึงการใช้ Big Data สร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายและศูนย์บริการ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 400 แห่ง ให้มีความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์คูโบต้าเสมือนเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้าง (On Your Side)

     “เราได้นำแนวคิด ออมนิ แชนแนล (Omni Channel) มาใช้ในระบบการจัดจำหน่ายมีการเชื่อมโยงลูกค้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน  โดยผนวกสื่อออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ เน้นการทำ Digital Marketing ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เน้นช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Smart Farmer ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชันเวอร์ชั่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ KUBOTA Smart Application สามารถดูข้อมูลสินค้าและกิจกรรมโปรโมชั่นต่างๆ KAS Crop Calendar ปฎิทินเพาะปลูกที่ครอบคลุมทั้ง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด นอกจากนี้ยังมีบริการซื้ออะไหล่ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อสอดรับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคเกษตร 4.0 อย่างแท้จริง อีกทั้งนำข้อมูลที่ได้กลับมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Solutions) และการให้บริการ (Service Solutions) ที่แม่นยำตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และนำเสนอนวัตกรรมเกษตรใหม่ๆ ที่ครอบคลุมการทำเกษตรในกลุ่มพืชที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พร้อมออกแคมเปญการตลาด ภายใต้แนวคิด “Best Companion” ที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของเกษตรกรได้สบายใจยิ่งขึ้น” นายพิษณุ กล่าว