CP – CPF นำเสนอประสบการณ์ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Seafood Task Force เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนและพัฒนาความยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมงไทย ต่อที่ประชุม 2019UN Forum โดย CPF ได้ ระบุมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ เกิดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย การดำเนินงานที่สอดคล้องกันของหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการขยายผลการดำเนินงานของกลุ่ม
ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (GCNT) และผู้แทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมกับ นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นผู้แทนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และบทบาทของซีพีเอฟกับการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงไทย ที่งานประชุมประจำปีขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่อง ภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (2019 UN Forum on Business and Human Rights) หัวข้อเรื่อง Multi stakeholders initiatives promoted by States to drive business respect for human rights – effectiveness and lessons learned จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
การประชุม Multi stakeholders initiatives promoted by States to drive business respect for human rights – effectiveness and lessons learned เป็นการประชุมว่าด้วยความสำคัญของการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการส่งเสริมการคุ้มครองและเสริมสร้างความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน โดย CPF ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Seafood Task Force เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนและพัฒนาความยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมงไทย ซึ่งมีผลงานโดดเด่นช่วยให้สหภาพยุโรปประกาศปลดใบเหลืองของภาคประมงไทย โดย CPF ย้ำว่า บริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงโดยตรง แต่ด้วยความเป็นผู้นำในด้านธุรกิจเกษตร-อาหาร และความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน CPF จึงร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่ม Seafood Task Force ตั้งแต่ก่อตั้ง
นายวุฒิชัย กล่าวว่า ความสำเร็จของกลุ่ม Seafood Task Force ประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ลูกค้า ห้างค้าปลีกในต่างประเทศ ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาครัฐ มาร่วมกันหาทางออก โดยเฉพาะภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญช่วยสนับสนุนการดำเนินงานภาครัฐ อาทิ การร่วมมือกับกรมประมงของไทยใช้เครื่องติดตามเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) บนเรือประมง การจัดตั้งศูนย์สวัสดิภาพ และธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือศูนย์ FLEC) ที่จ.สงขลา โดย CPF ร่วมกับองค์การสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและป้องกันการค้ามนุษย์เชิงรุก และช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานประมง และครอบครัวแบบครบวงจร
2. การดำเนินงานที่สอดคล้องกันของหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและเกิดการประสานเชิงนโยบายอย่างแท้จริง และ 3. การขยายผลการดำเนินงานของกลุ่ม Seafood Task Force ซึ่งถือกำเนิดจาก Shrimp Task Force และขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมประมงโดยรวม ปัจจุบันมีสมาชิกจากทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กร และจะขยายรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ เวียดนาม
ทั้งนี้ Mr.Dante Pesce สมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในฐานะประธานการประชุม ได้กล่าวชื่นชมความตั้งใจจริงของ CP-CPF และของประเทศไทย พร้อมยกเป็นแบบอย่างให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการส่งเสริมการบูรณาการของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิทธิมนุษยชนของสังคมโลกด้วย