ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน ข้าว-ข้าวโพด-ยาง ลดลงอีก

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                        สมเกียรติ กิมาวหา

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนพฤศจิกายน ทั้งน้ำตาล ทรายดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพาราแผ่นดิบมีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

      นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า  ทางศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก คาดว่าราคาขายอยู่ที่ 12.44-12.57 เซนต์/ปอนด์ (8.32-8.41 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00-2.00 เนื่องจากการเข้าซื้อน้ำตาลทรายคืนจากตลาดของกลุ่มกองทุน (short-covering) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ของจีน ที่กำลังจะอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าน้ำตาลที่มีอัตราภาษีต่ำ เพื่อจัดสรรโควตาให้กับบริษัทของรัฐบาลถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะกระตุ้นให้ประเทศจีน ยังคงโควตานำเข้าน้ำตาลในปี 2563

     มันสำปะหลังราคาขายอยู่ที่ 1.71 -1.79 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.18 – 5.92 เนื่องจากมีมาตรการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจากภาครัฐเพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพิ่มขึ้น เร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศจีน อินเดีย ตุรกี และนิวซีแลนด์ เป็นต้นมาตรการชะลอการขุดกรณีผลผลิตออกเป็นจำนวนมากและชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร มาตรการควบคุมการขนย้ายและคุมเข้มการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ราคามันสำปะหลัง

       ปาล์มน้ำมันราคาขายอยู่ที่ 2.91-3.01 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.75 – 5.24 เนื่องจากมาตรการต่อเนื่องของภาครัฐในการส่งเสริมให้รถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 โดยสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการลดราคาน้ำมัน B10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล B7 และได้มีการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ในสถานีบริการ มาตรการดังกล่าว ถือเป็นการปรับสมดุลปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน และช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบในตลาดเพิ่มมากขึ้น

        สุกรราคาขายอยู่ที่ 61.25 – 62.50 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.40 – 2.40เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งโดยปกติมีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงยังมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จึงทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนักและกุ้งขาวแวนนาไมขนาด 70 ตัว/กก.ราคาขายอยู่ที่124.50 – 126.00 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.40 – 3.30 เนื่องจากอากาศเริ่มเย็นลงทำให้กุ้งเจริญเติบโตช้า และเกษตรกรมีการปรับตัวในการเลี้ยงกุ้ง โดยลดปริมาณการปล่อยลูกกุ้งและทยอยจับสลับกับการลงกุ้งก้ามกราม แต่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับจีน และค่าเงินบาทที่แข็งกว่าประเทศคู่แข่งขัน

       ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับลดลง ได้แก่ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% คาดว่าราคาขายอยู่ที่ 7,868-7,920 บาท/ตันลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.10-0.76 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ปรับลดการนำเข้าข้าวจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวข้าว

         เปลือกหอมมะลิราคาขายอยู่ที่16,087-16,172 บาท/ตันลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.77-1.29 เนื่องจากผลผลิตข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยข้าวหอมมะลิ 105 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวราคาขายอยู่ที่14,050-14,158บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.58-1.34เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น

      ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาขายอยู่ที่ 7.32-7.36 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ1.50-2.00 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดมากในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกทำให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นสูง ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์จึงไม่นิยมซื้อเก็บสต็อกไว้ ส่งผลให้ความต้องการใช้ภายในประเทศทรงตัว

       ยางพาราแผ่นดิบราคาขายอยู่ที่ 35.08-35.37 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.25-1.06 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และความต้องการจากประเทศจีนลดลง เนื่องจากบริษัท ฉงชิ่ง จำกัด รัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ของประเทศจีน    ปิดกิจการ ประกอบกับบริษัทต่างประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหวหยุดใช้ยางพารา และไม้ยางพาราที่ไม่ผ่านมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน