53 ปี ธ.ก.ส. ชูนโยบาย Go Green เพื่อเกษตรยั่งยืน มอบหมายให้ทุกสาขาทั่วประเทศ เดินหน้าโครงการ Projected Based หนุนเกษตรอินทรีย์ 78 โครงการ กินพื้นที่การเกษตร 126,441 ไร่ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยการกำหนดเครื่องหมาย A-Green แสดงถึงผลผลิตที่ ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนแก่เกษตรกร ชุมชน ทั้งด้านการผลิต การตลาดและสินเชื่อ ล่าสุดผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผลักดันการผลิตอาหารปลอดภัย และการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว 4,837 ราย พื้นที่กว่า 22,000 ไร่ ควบคู่การยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนและหนุนสร้างธุรกิจชุมชน 928 แห่ง ภายในสิ้นปี หวังเป็นหัวขบวนในการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน พร้อมนำสินค้าเกษตรกว่า 1,700 รายการ เปิดจำหน่ายสู่ตลาดออนไลน์ A-Farm Mart ระบุเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบปีที่ 53 ธ.ก.ส. มุ่งสานต่อนโยบาย Go Green ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีบัญชี 2562 โดยส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่การปลูกสู่การแปรรูป และการจำหน่าย การเพิ่มช่องทางการตลาดรวมทั้งผลักดันให้สินค้าเกษตรได้รับมาตรฐานรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ทำการผลิตเกษตรปลอดภัย (GAP) จำนวน 774 ราย พื้นที่ 3,649 ไร่ เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองการผลิตแบบมีส่วนร่วม (PGS) จำนวน 2,569 ราย พื้นที่ 12,804 ไร่ และเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐาน Organic Thailand หรือ IFOAM และมาตรฐานอื่น ๆ จำนวน 1,494 ราย พื้นที่ 5,736 ไร่ รวมการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยทั้งสิ้น จำนวน 4,837 ราย พื้นที่ 22,189 ไร่
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเช่น กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth Safe และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการเกษตรลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ขับเคลื่อนการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์สู่วงกว้าง ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ การรับรองมาตรฐาน GAP การรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) และมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย Earth Safe Standard เป็นต้น เพื่อส่งผลผลิตให้กับ Modern Trade โดยมีแผนเชื่อมโยงชุมชน 9 แห่ง ในการผลิต และมีการนำร่องโครงการ 459 บ้านไร่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ร้อยเอ็ด จำกัด ที่สนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิ GAP และอินทรีย์โดยเชื่อมโยงกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 352 ราย พื้นที่ 7,136 ไร่ โดย สกต. รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาแปรรูปเป็นข้าวสาร A-Rice เพื่อจำหน่าย
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ทุกจังหวัดดำเนินโครงการ Projected Based เพื่อสนับสนุนเกษตรอินทรีย์จำนวน 78 โครงการ พื้นที่การเกษตร 126,441 ไร่ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคโดย ธ.ก.ส. ได้กำหนดเครื่องหมาย A-Green เพื่อแสดงถึงผลผลิตที่ ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนแก่เกษตรกร ชุมชน ทั้งด้านการผลิต การตลาดและสินเชื่อ ในส่วนของ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 459 อาคารบางเขน โดยจัดอบรมให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่พนักงาน ผู้ช่วยพนักงานและแม่บ้าน พร้อมใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบสำนักงานปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อใช้บริโภค ส่วนที่เหลือแบ่งปันและจำหน่าย เพื่อให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่าด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการยกระดับธนาคารต้นไม้ จำนวน 6,836 ชุมชน สู่ชุมชนไม้มีค่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าแล้วกว่า 1,974 ชุมชน และร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือ LESS โดยปัจจุบันมีชุมชมเข้าร่วมแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ บ้านท่าลี่ จังหวัดขอนแก่น บ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี บ้านนาซำจวง จังหวัดหนองบัวลำภู และบ้านศรีเจริญ จังหวัดพิษณุโลก คิดเป็นจำนวนที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 150,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ด้านการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนประกอบด้วย กิจกรรมการผลิตโดยใช้ทรัพยากรภายในชุมชน การขายผลผลิต การซื้อและบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม เริ่มจากการค้นหาศักยภาพและความต้องการของชุมชน นำไปสู่พัฒนาการยกระดับเป็นธุรกิจชุมชนมีการบูรณาการความร่วมมือกับส่วนงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อที่ตรงความต้องการ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีสวัสดิการสังคม มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น นำไปสู่ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน ลูกค้า ธ.ก.ส. ชุมชนต้นแบบฯ ชุมชนท่องเที่ยว และชุมชนอุดมสุข จำนวน 928 ชุมชนภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าของชุมชนสู่ผู้บริโภค ธ.ก.ส. ยังสนับสนุนช่องทางการตลาดทั้งตลาด Offline ได้แก่ ตลาดชุมชน ตลาด อตก. Modern Trade ตลาดไทยเด็ดที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ร้านอาหาร โรงพยาบาลและตลาดประชารัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณ ธ.ก.ส. สาขาต่าง ๆและตลาด Online ได้แก่Platform A-Farm Mart ซึ่งมีสินค้าจากเกษตรกรที่ถูกคัดสรรคุณภาพกว่า 1,700 รายการ จากทั่วประเทศ ให้สามารถเลือกซื้อได้ง่าย ๆ ผ่านทางออนไลน์ ส่งตรงถึงบ้าน ซึ่งปัจจุบันมียอดจำหน่ายแล้วกว่า 56.9 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีความพร้อมในการขับเคลื่อนแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาลไปสู่เกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆที่จะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไปแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท
โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาทเป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน ดำเนินการโอนเงิน รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,351 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ไปแล้วกว่า 9,411 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่1ซึ่งมีเป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยางรวมกว่า จำนวน 1.7 ล้านราย ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณกว่า 23,472 ล้านบาท(เริ่มดำเนินการโอนเงินได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้)