“อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ” ชำแหละกระบวนการแบน 3 สารเคมี ตั้ง 7 ข้อคิด 7 ข้อสังเกตุ ทำได้อย่างไร?

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                           อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ
       แม้กระบวนการแบน แบน 3 สารเคมีเกษตร “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพรีฟอส” ได้จบลงไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติให้งดใช้สารเคมีเกษตร 3 รายการดังกล่าว แต่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากวิจารณ์ เป็นประเด็นใหญ่ในสังคม ถึงเรื่องเหมาะสมอย่างไร และผลที่จะตามจะเป็นอย่างไร  โดยฝ่ายที่เห็นควรแบน ให้เหตุว่าตัวสารและการใช้มีผลต่อคนทั้งผู้ใช้ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในส่วนฝ่ายที่เห็นว่าไม่สมควรแบน ระบุว่า เป็นสารจำเป็นต่อปัจจัยการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิด ยังไม่มีสิ่งทดแทนที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน และไม่เชื่อถือข้อมูลอีกฝ่ายที่นำเสนอเหตุผลแบน

        เนื่องเพราะจากผลการวิจัยของหน่วยงานระดับโลกที่น่าเชื่อถือว่า ระบุว่า ไม่อันตรายอย่งที่คิด และอีกหลายประเทศที่นยังอยู่ และที่สำคัญยิ่ง ไทยแบน 3 สารเคมีเกษตร แต่ยำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่ยังใช้ทั้งพาราควอต และไกรโฟเซส จึงมีคำถามมากมายกว่า ทำได้อย่างไร ถือว่าไม่ห่วงเรื่องสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริงใช่หรือไม่ และการที่ไทยประกาศให้ พาราควอต และไกรโฟเซส เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ไทยจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้สารเคมีชนิดนี้ได้หรือไม่

          ล่าสุด ดร. อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ประมวลประเด็นปัญหา และการดำเนินการที่ผ่านมา โดยอธิบายเป็น 7 ข้อคิดสำคัญได้ว่า ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น แทนที่จะใช้วาทะกรรม การสร้างกระแสปั่นสังคม ควรหันหน้ามาเจรจากัน โดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์โดยรวมของชาติ เกษตรกรผู้ผลิตอยู่ได้ ประชาชนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมถูกกระทบน้อย แต่ถ้ามีเจตนาอื่นแอบแฝง การเจรจาก็เกิดขึ้นได้ยาก

       ข้อคิดที่ 1 การเฝ้าระวังและการตรวจสอบผลตกค้างของสารทั้งสามชนิดในผลิตผลทางการเกษตร โดย ไทยแพน (เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) นำเสนอผลสุ่มตรวจสารพิษตกค้างครั้งที่ 2 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 แจ้งว่า พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผักผลไม้ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค 16 ชนิด แต่ไม่มีสารตกค้างพาราควอต และไกลโฟเซต จากนั้น ปี 2560 ไทยแพนแจ้งว่า กว่าครึ่งผักและผลไม้ยอดนิยม 16 ชนิด มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 46% เอกสารไม่ระบุว่าเป็นสารใด แต่ไทยแพน แถลงข่าว พบพาราควอตตกค้างเกินมาตรฐานสูง 50% รองลงมาไกลโฟเซต 8% และชูยาฆ่าหญ้าเป็นปัญหาระดับชาติ ขอให้แบนสารดังกล่าว

       ข้อสังเกต สารที่ตกค้างในรายงานปี 2559 ไม่พบสารพาราควอตและไกลโฟเซต และปี 2560 การตกค้างสารทั้งสองในผักและผลไม้ 55% ไม่น่าเป็นไปได้ หากผักถูกสารพาราควอตจะไหม้และตายไป ที่เอาออกมาขายได้ต้องไม่ถูกสารพาราควอต ไทยแพนควรเปิดเผยผลตรวจสอบดังกล่าว

       ข้อคิดที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ในเดือนธันวาคม 2559 มีกรรมการ 21 ท่าน และได้ประชุมทั้งสิ้น 4 ครั้ง

      แต่มีข้อสังเกตไม่สามารถหารายงานการประชุมใน 3 ครั้งแรกได้ เนื่องจากผลการตรวจสอบสารตกค้างมีเพียง คลอร์ไพรีฟอส ไม่พบพาราควอตและไกลโฟเซต แล้วทำไมจึงมีชื่อปรากฏมาในภายหลังได้ในการประชุมครั้งสุดท้าย รวมทั้ง กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งไทยแพนให้เป็นกรรมการ และเลขานุการร่วมด้วย ที่สำคัญมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ไม่อาจบังคับให้แบนสารดังกล่าวได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ แต่กลับมีมติและบังคับให้กรมวิชาการเกษตรทำตาม

         ข้อคิดที่ 3 กรมวิชาการเกษตร นำมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของการใช้สาร ไกลโฟเซต ตามข้อเสนอคณะกรรมขับเคลื่อนฯ ส่วนการยกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ได้นำเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา

        ข้อสังเกต กรมวิชาการเกษตรทราบถึงกระบวนการเป็นอย่างดี จึงได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นผู้พิจารณา ไม่ได้หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบหรือถ่วงเวลาแต่ประการใด

       ข้อคิดที่ 4 การพิจารณาคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามกระบวนการยกเลิกใช้สารใด ๆ ก็ตาม อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อน ให้เกิดความรอบคอบ ยึดหลักเหตุผล และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาเรื่องการยกเลิกสารดังกล่าว จนเกิดการประชุมรวมถึง 13 ครั้ง มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องทางวิชาการ วิจัย และอื่น ๆ ได้ข้อสรุปวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ให้ใช้แนวทางจำกัดการใช้ทั้งสามแทนการยกเลิกใช้สารดังกล่าว รวมทั้งคณะกรรมการมีมติมอบให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนดำเนินการต่อไป

         ข้อสังเกต กระบวนพิจารณาเป็นไปตามขั้นตอน รอบคอบมีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง โดยประธานคณะอนุกรรมการฯ ครั้งนั้นคือ ดร.ภักดี โพธิศิริ อดีตเลขาธิการ อ.ย. และอดีตกรรมการ ปปช. ที่สำคัญมีการอภิปรายและเปิดเผยบันทึกเหตุและผลอย่างเปิดเผย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยรวม 22 หน้า

         ข้อคิดที่ 5 การพิจารณาข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถือคณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการยกเลิกใช้สารดังกล่าว แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ขอข้อมูลจากผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่มเติม และประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อทบทวนการตัดสินและได้ข้อสรุปยืนยัน มติเดิมไม่มีการยกเลิกใช้สาร แต่ให้เป็นมาตรการจำกัดการใช้ และรายงานไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน

          ข้อสังเกต ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะ แต่กลับพบว่า ที่มาที่ไปของการวินิจฉัยมีเป้าหมายอยู่ในใจก่อนแล้ว จึงเกิดคำถามว่า ทำไมไม่แสวงหาข้อเท็จจริงรอบด้าน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสารดังกล่าว

          ข้อคิดที่ 6 การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการดำเนินงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์”  หลังจากคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ กรกฎาคม 2562 ได้ประกาศชัดเจนว่า จะแบนสารทั้งสามชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ภายในปี 2562 ขณะเดียวกัน คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ดำเนินการตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 18 กันยายน ให้มีการศึกษาถึงปัญหา วิธีการและผลกระทบ บริหารจัดการสารจากผู้เกี่ยวข้อง 4 ภาคส่วนได้แก่ ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค แต่ รมช. มนัญญา ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งตนเองเป็นประธานและประชุมคณะทำงานในวันที่ 7 ตุลาคม โดยมีมติเอกฉันท์ตามข่าวในสื่อมวลชนให้ยกเลิก 3 สาร โดยมิได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาและผลกระทบในการบริหารจัดการสารแต่ประการใด

       ข้อสังเกต เหตุใด รมช. มนัญญา จึงให้ความสนใจเฉพาะปัญหาและผลกระทบ แต่ไม่ให้ความสำคัญผลกระทบด้านอื่น และใช้เวลาในการประชุมรวบรัดไม่ถึง 3 ชั่วโมงตัดสิน โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการใหม่ไปหักล้างข้อมูลเดิมที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้ตัดสินไม่ยกเลิกสารทั้งสาม

         ข้อคิดที่ 7 การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร จากกระแสขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ขึ้น และได้ฟังการแถลงข่าวสรุปความได้ว่า สารทั้งสามนี้เป็นอันตรายน่าจะต้องยกเลิกการใช้

        ข้อสังเกต รายชื่อผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นกรรมาธิการจากพรรคต่าง ๆ เป็นกลุ่มบุคคลที่เห็นว่าสมควรยกเลิกอยู่แล้วและเป็นแกนนำเคลื่อนไหวในการยกเลิกด้วย จึงพอคาดเดาได้ว่ามติจะออกมาในรูปแบบใด

          ทั้งหมดนี้ ดร. อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ บอกว่า เป็นเพียงหนึ่งความคิดเห็น เพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริง และหวังว่าสังคมไทยจะตัดสินเรื่องต่าง ๆ ด้วยเหตุและผล คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ