ธ.ก.ส. ร่วมงานโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนแบบบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ประกาศพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าพัฒนา 928 ชุมชนภายในสิ้นปีนี้
วันนี้ (30 ตุลาคม 2562) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนาและมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
โดยมีนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ผู้บริหารธนาคารออมสิน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ และตัวอย่างชุมชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบสินเชื่อให้ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การจัดตลาดชุมชนทางน้ำและการฝึกอบรมให้ความรู้ โดยมีเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน ณ หอประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
อภิรมย์ สุขประเสริฐ
นายอภิรมย์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย”ประชารัฐสร้างไทย” ที่เป็นการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สภาเกษตรกรแห่งชาติภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง การสนับสนุนทั้งความรู้และการเงิน แก่เกษตรกร ชุมชน การสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้นำนโยบายมาจัดทำเป็นโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมการผลิต กิจกรรมขายผลผลิต กิจกรรมการซื้อและบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนที่เริ่มจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน ทั้งโอกาส ศักยภาพ ปัญหา แนวทางพัฒนาและแก้ไข เหมือนการระเบิดจากภายใน
จากนั้นจึงเริ่มพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในด้านความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Smart Farmer ผู้ประกอบการ SME เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตรเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ คือ ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ SMARTFarmer SMEs หัวขบวน วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตรซึ่งแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม (กลุ่มการผลิต กลุ่มบริการและกลุ่มรวบรวม) ด้านท่องเที่ยว (กลุ่มที่พักโฮมสเตย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มนำเที่ยวและขนส่ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชม)และด้านอุตสาหกรรม (กลุ่มแปรรูปและกลุ่ม Logistics) โดยตั้งเป้าขับเคลื่อนให้ได้ 928 ชุมชน ภายในสิ้นปี 2562 และเป็น 9,000 ชุมชน ภายในปี 2564
นายอภิรมย์ได้นำเสนอโมเดลการพัฒนาธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพนำร่อง 8 จังหวัดได้แก่ตัวอย่างพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เช่นชุมชนบ้านโป่งสามัคคี อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนบ้านทากู่ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านแม่แจ๋ม อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางชุมชนบ้านโป่งศรีนคร อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย ชุมชนบ้านนาปลาจาด อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตัวอย่างชุมชนที่มีการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรในพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ธุรกิจชุมชนบ้านบัว อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ธุรกิจชุมชนบ้านปางปุก อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และชุมชนตำบลบ้านกวางอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างธุรกิจชุมชน
นายอภิรมย์กล่าวว่า ธ.ก.ส.พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ให้แก่คนในชุมชน ได้ครอบคลุม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าการผลิต อุตสาหกรรม และบริการต่าง ๆ เพื่อสร้าง SMARTFarmerผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจฐานราก โดยการอำนวยสินเชื่อรวมกว่า 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2564