ยึดมะพร้าวอินโดฯแหกกฎแอบนำเข้ากว่า 80 ตัน

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมวิชาการเกษตร  ล็อคมะพร้าวนำเข้าจากเมืองอิเหนา ชี้ผิดเงื่อนไขกว่า 80 ตัน  แถมยังมีส่วนงอกยอดอ่อนติดมากับผลผลิตด้วย  จี้ผู้ประกอบการเร่งเคลียร์สินค้าส่งกลับต้นทาง  เผยปีนี้ตรวจพบมะพร้าวนำเข้าจากเพื่อนบ้านผิดกฎถูกส่งกลับและทำลายแล้วกว่า 3 พันตัน  มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท

      นางสาวเสริมสุข   สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชท่าเรือ กรมวิชาการเกษตร ได้สุ่มตรวจและยึดผลมะพร้าวนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียจำนวน 3 ตู้คอนเทนเนอร์  ปริมาณ 81  ตัน  เนื่องจากตรวจพบมีส่วนงอกของยอดอ่อนติดมากับผลผลิต ซึ่งผิดเงื่อนไขการนำเข้ามะพร้าวตามประกาศกรมวิชาการเกษตร  เรื่องเงื่อนไขการนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซีย พ.ศ. 2554 ที่ต้องไม่ปรากฏส่วนของก้าน ใบ หน่อ หรือยอดอ่อน  ซึ่งด่านตรวจพืชท่าเรือได้แจ้งให้ผู้นำเข้าดำเนินการจัดการกับสินค้าดังกล่าว โดยผู้นำเข้าเลือกวิธีที่จะส่งสินค้ากลับที่ประเทศต้นทาง  ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการส่งกลับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       ตั้งแต่เดือนมกราคม-วันที่ 17 ตุลาคม  2562 ประเทศไทยนำเข้ามะพร้าวรวมจำนวน 1,056  ชิปเม้นท์  ปริมาณ 104,652 ตัน  รวมมูลค่ากว่า 750 ล้านบาท   โดยในจำนวนนี้ตรวจพบการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศกรมวิชาการเกษตรจำนวน 57  ชิปเม้นท์  ปริมาณ 3,116 ตัน  มูลค่ากว่า     21 ล้านบาท  โดยสาเหตุที่ตรวจพบผิดเงื่อนไขมากที่สุดถึง 93 เปอร์เซ็นต์ คือ พบการงอกของหน่อหรือยอดอ่อนมะพร้าว  ซึ่งตามประกาศกรมวิชาการเกษตรหากตรวจพบต้องส่งกลับ หรือทำลาย  โดยผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
       อย่างไรก็ตาม  หากผู้นำเข้าเลือกที่จะส่งสินค้ากลับประเทศต้นทางด่านตรวจพืชจะออกหนังสือแจ้งด่านศุลกากรในพื้นที่เพื่อให้ผู้นำเข้านำไปประกอบพิธีการทางศุลกากรเพื่อให้ด่านศุลกากรตรวจปล่อยสินค้าตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมายต่อไป  แต่ถ้าผู้นำเข้าเลือกวิธีที่จะทำลายต้องไปหาแหล่งทำลายซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ชอบด้วยกฎหมายในการรับทำลายสินค้า  มีมาตรฐาน ISO ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และทำลายถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อมิให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชภายในประเทศ  โดยมีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชไปควบคุมการทำลายด้วยทุกครั้ง
.
      อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  มะพร้าวเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการที่จะอนุญาตให้นำเข้าได้ต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านโรคพืชและแมลงศัตรูพืชเพื่อกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตนำเข้าตามมาตรการสุขอนามัยพืช   โดยกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและกำกับดูแลเรื่องศัตรูพืชที่อาจจะติดมากับสินค้า
     ปัจจุบันประเทศไทยอนุญาตให้มีการนำเข้ามะพร้าวแก่ปอกเปลือกจาก 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมาร์  เนื่องจากผลผลิตมะพร้าวแก่ปอกเปลือกเพื่อใช้ในประเทศยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด  โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ผลผลิตมะพร้าวในประเทศปี 2562 ว่า มีปริมาณ 874,000 ตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมมะพร้าวในประเทศมีความต้องการใช้มะพร้าวผลแก่ถึง 1.04 ล้านตัน รวมทั้งการอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวจากประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นเกิดจากการร้องขอให้มีการอนุญาตนำเข้าจากผู้ประกอบการด้วย
      “ประเภทของมะพร้าวที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าคือ ผลมะพร้าวแก่ปอกเปลือก เนื้อมะพร้าวสด เนื้อมะพร้าวแห้ง กะลามะพร้าว เส้นใยมะพร้าว และกาบมะพร้าว  โดยผู้นำเข้าต้องมีใบอนุญาตนำเข้า และต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานแปรรูปมะพร้าว  ซึ่งการออกใบอนุญาตนำเข้ามะพร้าวเข้ามาในไทยจะอนุญาตเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวเท่านั้น   และการนำเข้าจะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาพร้อมกับสินค้าทุกครั้ง   โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชตรวจสินค้าที่นำเข้ามาอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชติดเข้ามาในประเทศ ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว