แกนนำเกษตรกร บุกกระทรวงเกษตรฯ พบ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ยกข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้ชัดหากแบน 3 สารเคมีเพื่อการเกษตร ภาครัฐสูญเสียรายได้กว่า 8.2 แสนล้านบาท ถามซึ่งๆหน้า แบนแล้ว พร้อมจ่ายค่าชดเชยความเสียหายหรือไม่ ประกาศสาปส่งพรรคการเมือง และเตรียมดอกไม้จันทน์ “เผาผี” ด้วย ขณะที่ รมว.เกษตรฯยืนยันในส่วนของกระทรวงเกษตรมีมติแบนก่อนหน้านี้แล้ว และกรมวิชาการเกษตรได้เสนอสารทดแทน แต่ยังไม่ได้อ่าน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม 2562 แกนนำดเกษตรกรในนามสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และเครือข่ายเกษตรกร ผู้แทนสมาคมเกษตรกร แกนนำเกษตรกร และตัวแทนครอบครัวเกษตรกรที่ผู้แทนเกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน มังคุด มะนาว มะพร้าว แก้วมังกร ฝรั่ง และผลไม้ กว่า 5 ล้านครอบครัว เดินทางเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อชี้แจงถึงผลกระทบของเกษตรกรหากมีการแบน สารเคมีโดยเฉพาะพาราควอตและไกลโฟเซต พร้อมยืนยันว่าจะสร้างความเสียหายคิดมูลค่ารวม 8.2 แสนล้านบาท ยัน รมว. เกษตร ไม่แบน 3 สารเพื่อการเกษตรที่กำลังมีปัญหาอยู่ ซึ่งนายเฉลิมชัย รับปากว่า พร้อมจะจัดการปัญหาด้านสารเคมี จะยึดเกษตรกรเป็นหลัก และรับผิดชอบทุกผลการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
นายเฉลิมชัย กล่าวว่าเป็นการรับฟังความเห็นอีกด้านของเกษตรกรที่ต้องการใช้สารเคมี ในฐานะรมว.เกษตรฯต้องฟังเหตุผลทั้งสองฝ่ายเพราะคนไทยด้วยกัน ซึ่งไม่ว่ามติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะออกมาอย่างไร ต้องเตรียมมาตรการดูแลรองรับทั้งสองด้าน ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯมีมติชัดเจนแล้วให้แบน 3 สาร ก่อนหน้านี้แล้ว และให้กรมวิชาการเกษตร ทำบัญชีรายชื่อสารทดแทน แต่ยังไม่ได้เปิดอ่านมั่นใจข้าราชการระดับผู้บริหารไปร่วมประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครยื่นใบลาพักร้อนแต่อย่างใด
ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า หากนับเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักมีเพียง 6 รายการ ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช พาราควอต และไกลโฟเซต ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงถึงปีละ 4.5 แสนล้านบาท นำรายได้เข้าสู่ประเทศรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หากแบนสารดังกล่าว สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล ได้ประมาณการณ์ผลกระทบต่อภาคเกษตรอุตสาหกรรม ไม่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตรวมจะลดลงร้อยละ 82 รายได้เกษตรกรจะหายไปเกินครึ่ง หรือ ร้อยละ 56 คิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท รวมทั้ง ปริมาณการส่งออกสินค้ารวมจะหายไปร้อยละ 80 คิดเป็นมูลค่า 5.7 แสนล้านบาท รวมแล้วภาครัฐจะต้องสูญเสียรายได้กว่า 8.2 แสนล้านบาท
เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวอีกว่า การบริหารเกษตรกรรมของประเทศด้วยหลักมโนศาสตร์ กระแสสังคมและความรู้สึก ไม่ควรเกิดขึ้นในทุกรัฐบาล การพัฒนาประเทศต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานความเป็นจริงและศักยภาพของประเทศ หมดยุคสมัยการบริหารงานด้วยวิธีสนตะพาย นายทุนจูงจมูกผู้บริหารประเทศ นักการเมืองสมรู้ร่วมคิด นักวิชาการหาเงินข้าราชการอ่อนแอ ไร้ความรับผิดชอบ NGO ผลาญภาษีสร้างเรื่องเท็จ แถมเอาภาษีประชาชนมาปั่นกระแสลวงโลก เกษตรกรเพาะปลูกมานานกว่า 50 ปี รู้ดีว่าระบบเกษตรปลอดภัยมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย เป็นทางออกที่ดีที่สุดสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กระททรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งส่งเสริมเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ ต่างต้องดำเนินไปควบคู่กัน โดยปัจจุบันเกษตรเคมีมีพื้นที่กว่า 137 ล้านไร่ แต่เกษตรอินทรีย์มีพื้นที่ 3 แสนไร่เท่านั้น
“สิ่งที่ผมผิดหวังที่สุดคือ จิตสำนึกของข้าราชการประจำ ส่วนบรรดานักการเมือง มาแล้วก็ไป แต่พวกท่านคือคนที่ยังอยู่ จะต้องทำหน้าที่โดยสุจริต และมีศักดิ์ศรี สำหรับเรื่อง 3 สาร ทางออกที่เหมาะสมที่สุดคือ มาตรการจำกัดการใช้ฯ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศออกมาใช้ จะต้อง ไม่แบน เพราะแรงงานไม่สามารถหาได้ หากหาได้คิดเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลัก 60 ล้านไร่ รัฐต้องจ่ายค่าแรงชดเชยให้เกษตรกร 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี หากใช้เครื่องจักร ปัจจุบันเกษตรกรเป็นหนี้สินอยู่ครอบครัวละ 135,220 บาทต่อปี รัฐต้องยกเลิกหนี้สินให้เกษตรกรทั้งหมด ที่อยู่ในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างหนี้ใหม่กู้เงินมาซื้อเครื่องจักร โดยเกษตรเรียกร้องให้รัฐออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างของเครื่องจักรทั้งหมดให้เกษตรกร” นายสุกรรณ์ กล่าว
ขณะที่นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวเสริมว่า หลักฐานต่าง ๆ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ ได้ตรวจสอบและพิจารณาหมดแล้วว่า พาราควอต ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามที่กลุ่ม NGO และนักวิชาการกล่าวอ้าง รวมทั้ง เกษตรกรได้ไปตรวจสอบเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ที่ NGO เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนมาโดยตลอดจนปัจจุบัน กลับพบข้อสงสัยหลายประการ อาทิ การเก็บตัวอย่างงานวิจัยพาราควอตจากแม่สู่ลูก ผลการตรวจสอบการตกค้างสารเคมีที่เผยแพร่ โดยหลักฐานสำคัญเหล่านี้ จะนำไปยื่นฟ้องศาลปกครองในลำดับต่อไป
ล่าสุด สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ หรือ US EPA ได้เปิดเผยผลการประเมินล่าสุด ปีพ.ศ. 2562 เกี่ยวกับโรคพาร์กินสันกับพาราควอตแล้วว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน พาราควอต ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพาร์กินสันแต่อย่างใด แต่ดูเหมือนนักวิจัยของไทยบางคนพยายามจะให้เกี่ยวข้องให้ได้ ไม่แน่ใจว่า รับอะไรมาหรือไม่ ผลงานวิจัยของไทยจากนักวิจัยบางคนนนั้น มีข้อสงสัยหลายประการโดยเฉพาะ เมื่อเกษตรกรตรวจสอบกลับไปยังโรงพยาบาลที่กล่าวอ้างว่าเก็บตัวอย่างหญิงมีครรภ์ ได้รับคำตอบจากโรงพยาบาลว่า ไม่เคยมีข้อมูลการดำเนินงานดังกล่าว แล้วผลวิจัยมาจากไหน?
นอกจากนี้ สารชีวภัณฑ์ที่รัฐเคยส่งเสริมการใช้ ในความเป็นจริงกรมวิชาการเกษตรเองก็เคยนำไปตรวจสอบกลับพบว่า เป็นสารเคมีเกษตรผสมแล้วนำมาขายบอกว่าเป็นอินทรีย์ จึงเป็นข้อยืนยันแน่ชัดได้ว่า ยังไม่มีสารใดทดแทนได้ ส่วนแนวคิดการแบนสารชนิดหนึ่งแล้วเอาสารเคมีอีกชนิดหนึ่งมาให้ใช้นั้นเป็น ตรรกะที่ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลูโฟซิเนต ที่แนะนำให้ทดแทนนั้น อันตรายกว่าสารเดิม เพิ่มเติมคือแพงกว่า 5 เท่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า
ดังในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จะเป็นวันที่เกษตรกรทุกคนจะรอฟังคำตัดสิน และให้กำลังใจคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตัดสินอย่างเที่ยงธรรม ไม่ต้องกลัวอิทธิพลพรรคการเมือง เพราะเกษตรกรกว่า 1,000 รายจะไปให้กำลังใจและยืนหยัดข้างเคียง และพร้อมจะประกาศแบนพรรคการเมือง และกับนำดอกไม้จันทน์ไป เผาผีด้วย ขอให้เลือกตั้งสมัยหน้า จะไม่ให้มีโอกาสกลับมามีอำนาจเป็น ส.ส. อีก