จับตา หนุน-ต้าน”แบนพาราควอต”สัญลักษณ์ความขัดแย้งระลอกใหม่…เกษตรไทยจะไปทางไหน?

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

 

       “การพิจารณาเรื่องแบน 3 สารเคมีเกษตร เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภาคการเกษตรของไทย ที่เกิดความขัดแย้งจะลุกลามขยายวงกว้าง กระทบไปยังประชาชนหลายกลุ่ม หลายองค์กร หลายหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุดอาจกระทบกับรัฐบาลด้วย”

        ณ วันนี้ต้องยอมรับว่า การเผชิญหน้าและความขัดแย้งในวงการภาคการเกษตรของไทยค่อนข้างรุนแรงและกำลังขยายเป็นวงกว้างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่คนในชาติมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และจะนำไปสู่ความแย้งในระดับประเทศ กรณีที่จะมีการแบน 3 สารเคมีเพื่อการเกษตร “พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส” ที่มีทั้งกลุ่มผู้ที่สนับสนุนให้แบนที่อ้างถึงเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้ที่คัดต้านที่ให้เหตุผลว่า จะสร้างความหายนะให้ภาคการเกษตรตั้งแต่ระดับเกษตรกร การแปรูป และภาคอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่องอย่างมหาศาล และที่เลวร้ายเขามองว่า เป็นการแบน เพื่อที่จะนำสารเคมีตัวอื่นเข้ามาแทน โดยมีภาคการเมืองอยู่เบื้องหลัง

        ย้อนไปเมื่อวันที่ 12  มิถุนายน 2562 เวลาผ่านไปเพียงไม่ถึง 4 เดือน ที่นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศอย่างชัดเจนถึงข่าวแนวทางปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร  ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จำนวน 5 ฉบับ ลงวันที่ 5เมษายน 2562 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศ คือตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

       การประกาศดังกล่าว กำหนดให้ เกษตรกรผู้ใช้สารและผู้รับจ้างพ่นสาร จะต้องผ่านการอบรมเพื่อให้สามารถใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมี 4 หน่วยงานที่รับผิดชอบในการอบรม คือกรมส่งเสริมการเกษตรจะอบรม และทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย จะอบรมและทดสอบให้กับเกษตรผู้ปลูกยางพารา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะอบรมและทดสอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยมีกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่อบรมเจ้าหน้าที่ของ 3 หน่วยงานเพื่อให้เป็นวิทยากรไปอบรมเกษตรกร และเป็นผู้อบรมให้กับผู้รับจ้างพ่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และปลัดอบต.

        ทว่า…วันนี้กลับตาลปัตร เกษตรกรที่เข้าอบรมตามที่กรมวิชาการเกษตร กำหนดเงื่อนไขมา ยังไม่ทันจะนำไปปฏิบัติ และนำมาใช้ตามที่อบรมมา ที่เกษตรกรต้องเสียเวลาทำมาหากิน กรมวิชาการเกษตรต้องเสียงบประมาณจากการจัดฝึกอบรม จู่ๆมติคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ให้แบน 3 สารเคมีเพื่อการเกษตร “พาราควอต- ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเห็นชอบด้วย จนถึงขนาดคณะกรรมการวัตถุอันตราย ต้องมีการประชุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม  ทั้งที่มีมติเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนและเกิดความขัดแย้งขึ้นมา และต่างฝ่ายเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ

           จะเห็นได้ว่าวันที่ 21 ตุลาคม 2562 จะมีผู้สนับสนุนและคัดค้าน จะออกมาเคลื่อนไหวทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายที่คัดค้านนั้น นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย และเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย บอกว่า ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ประกอบด้วยเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผักและผลไม้ ได้เชิญสื่อมวลชนร่วมงานแถลงข่าวโหมโรง รวมพลังเกษตรกรไทย คัดค้านการแบน 3 สาร  เวลา 10.00 น. ณ ห้องกิ่งทอง ชั้น 2 โรงแรมเอเชีย สถานีรถไฟฟ้า BTS ราชเทวี

            งานนี้จะมีการเปิดหลักฐานสำคัญ ค้านมติของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และนางสาวมนัญญา กรณีารแบน 3 สารเคมีเกษตร จะมีการ ประมวลผลกระทบจำแนกตามพืชเศรษฐกิจ หากกรณีมีการแบน 3 สารดังกล่าวทั้งภาระด้านงบประมาณที่ภาครัฐต้องรองรับ และสิ่งที่ภาครัฐต้องเตรียมจัดการ และเกษตรกรทั่วไทย จะประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันแบนพรรคการเมืองด้วย

            สำหรับตัวแทนเกษตรกที่จะให้ข้อมูลในครั้งนี้ ผู้แทนเกษตรกรจากกลุ่มพืชเศรษฐกิจ ได้แก่นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย,นายมนัส พุทธรัตน์ นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย,นายวัลลภ ปาริวัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย,นายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร,นายนิวัตร ปากวิเศษ ประธานชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย,ดร.บรรพต ด้วงชนะ ประธานศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง,นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน,นายเดชรักษา ทัพทวี นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์,นายรังสี ไผ่สะอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย,นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย,ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย 

                                                                            เฉลิมชัย ศรีอ่อน 

          ในช่วงบ่ายสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้เชิญสื่อมวลชนร่วมรับฟังความเห็นของ รมว.เกษตรฯ ในเรื่องทิศทางเกษตรไทยในมือของ  รมว. เกษตร และรัฐบาลลุงตู่ ในเวลา 15.00-17.00 น. ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ตามที่ รมว. เกษตรฯ รับนัดเกษตรกร และเปิดโอกาสให้เข้าพบ เพื่อชี้แจงรายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ โดยมีกำหนดการดังนี้ 

            การเข้าพบ รมว.เกษตรฯในครั้งนี้ ประเด็นหลักที่ตัวแทนเกษตรกรอยากทราบคือ   มุมมองและทัศนะของ รมว.เกษตรฯ กับการพัฒนาภาคการเกษตรไทย ,  แนวทางการบริหารจัดการปัญหาภาคการเกษตรและการใช้สารเคมีระยะยาวอย่างไร โดยตัวแทยเกษตรกรที่เข้าพบจากกลุ่มพืชเศรษฐกิจ ราว 100 ราย

            ในวันเดียว กลุ่มที่สนับสนุนในนามตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบน 686 องค์กรจะไปแสดงจุดยืนกับกระทรวงสาธารณสุข ในเวทีรณรงค์การยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรทร อาคาร 1 ชั้น 2 ตึกสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และจะมีการอ่านแถลงการณ์ร่วมในเวลา 10.00 น.ของวันที่ 21 ตุลาม 2562   

            ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มีรายงานแจ้งว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรฯ นำเกษตรกรกลุ่มหนึ่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อไปฟังผลการประชุมของ คกก.วัตถุอันตราย โดยที่นางสาวมนัญญา จะไปฟังด้วยตัวเองด้วย

                                                                        มนัญญา ไทยเศรษฐ์ 

        นาวสาวมนัญญา กล่าวที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ว่าในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เธอจะไปร่วมฟังผลการประชุมของคกก.วัตถุอันตรายด้วย พร้อมกับมีกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการให้ยกเลิก 3 สาร จากหลายจังหวัด  ที่ได้โทรติดต่อมาหาเธอ ว่าจะขอมาฟังผลการประชุมของคกก.วัตถุอันตรายจำนวนมาก แต่เธอบอกว่า ให้ส่งตัวแทนมาก็พอ หากมากันเยอะ จะไม่สะดวก

            ขณะที่นายเชิดชัย จิณะแสน กรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ บอกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า  ได้ทำหนังสือส่วนตัวถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว เนื้อหาระบุว่า ได้รับการประสานจากเกษตรกรทั่วประเทศว่า สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดมีความจำเป็นต้องใช้ในการทำเกษตรต่อไป เพราะยังไม่มีสารอื่นที่มีประสิทธิภาพเท่า และราคาถูกที่ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตมาทดแทน  เกษตรกรเห็นด้วยที่จะเข้ารับการฝึกอบรมการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชะลอการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดไปก่อน แล้วดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้ที่กำหนดไว้ระหว่างปี 2562 – 2564

        “การพิจารณาเรื่องแบน 3 สารเคมีเกษตร เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภาคการเกษตรของไทย ที่เกิดความขัดแย้งจะลุกลามขยายวงกว้าง กระทบไปยังประชาชนหลายกลุ่ม หลายองค์กร หลายหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุดอาจกระทบกับรัฐบาลด้วย หากยังไม่มีทางออกให้เกษตรกร” นายเชิดชัย กล่าว

         นับเป็นความขัดแย้งที่ร้ายแรงสุดในภาคการเกษตรไทย ที่กำลังประสบมรสุมต่างๆนาๆทั้งภัยพิบัติทางธรรม ทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง จึงหวังเป็นอย่างว่า ทุกภาคส่วนใช้หลักวิชาการ และหลักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ มาเป็นตัวชี้วัดด้วยความบริสุทธิ์ ที่ปราศจากการเมืองและผลประโยชน์ที่แอบแฝงใดๆ ที่อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งในหมู่คนไทยด้วยกัน และสร้างหายนะของการเกษตร รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ มาเกรณ์ตัดสิน เนื่องเพราะเกษตรกรรมคือวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่จะดำเนินการตามหลักเหหตุและผลที่พิศูนจ์ได้เป็นที่ตั้ง ก่อนที่ภาคเกษตรไทยจะล่มสลาย