กลุ่มยันม่าร์ มองอนาคตในอีก 100 ปีข้างหน้า ตามวิสัยทัศน์ “A Sustainable Future” อนาคตที่ยั่งยืน ประกาศก้าวต่อไปเน้นการวิจัย-พัฒนา ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกมุ่งสู่เครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ และพลังงานบริสุทธิ์ หวังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ เผยแผนขยายธุรกิจสู่นอกแดนปลาดิบในอัตราสัดส่วนที่มากขึ้น ปักธงประเทศไทยศูนย์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ฮิโรมิ คุโบตะ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารแบรนด์ บริษัท ยันม่าร์ จำกัด กล่าวระหว่างบรรยายสรุปให้กับสื่อมวลชนจากประเทศไทย ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ยันมาร์ จำกัด เมืองโอซาก้าว่า ยันม่าร์มุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมในอีก 100 ปีข้างหน้า ที่ต้องเน้นในการนำเสนอเทคโนโลยีที่สร้างผลผลิตได้อย่างสูงสุด โดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ที่ยันมาร์จะเดินหน้าพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในวันนี้ และสร้างชีวิตที่ดีเพื่ออนาคตของทุกคน
ฮิโรมิ คุโบตะ
ฮิโรมิ ย้อนอดีตว่า ยันม่าร์ก่อตั้งขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในปี 2455 เป็นบริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กในปี 2476 ในขณะนั้นมีการจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลเป็นสินค้าหลัก และต่อมาจึงได้ขยายรูปแบบของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องโดยการเพิ่มคุณภาพการบริการและพัฒนาความเชี่ยวชาญในฐานะผู้ผลิตเครื่องมืออุตสาหกรรมแบบครบวงจร รวมทั้งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์ก่อสร้าง ระบบพลังงาน เครื่องยนต์เดินเรือและการประมง เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนซึ่งได้ขยายธุรกิจไปทั่วโลกครอบคลุมทั้ง 7ทวีป
สำหรับการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคพื้นดิน ทางทะเล หรือในเมืองใหญ่ พันธกิจหลักในการดำเนินธุรกิจยันม่าร์ คือ การมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายกับสิ่งที่ต้องเผชิญในเรื่องของ อาหาร พลังงาน เพื่อทำชีวิตของผู้คนให้สมบูรณ์สำหรับวันพรุ่งนี้และต่อๆไปของเราทุกคน จึงเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของยันม่าร์ในการมอบ “อนาคตที่ยั่งยืน” ให้กับทุกคน
นอกจากที่ยันม่าร์ดำเนินกิจการกว่า 7 กลุ่มธุรกิจทั่วโลก ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับอุตสาหกรรม เครื่องยนต์สำหรับเรือเดินทะเล เครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์ เครื่องจักรสำหรับก่อสร้าง ระบบพลังงาน เรือสำราญและเครื่องมือ และส่วนประกอบของเครื่องจักรแล้ว ยันม่าร์มีส่วนสนับสนุนอุตสหากรรมการผลิตอาหารมาอย่างยาวนานด้วยการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งหลังจากครบรอบ 100 ปี ยันม่าร์ กำลังก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 2 และได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนใน ห่วงโซ่คุณค่าการผลิตอาหาร โดยส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีและช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในทุกช่วงของกระบวนการเกษตรกรรม ยันม่าร์ต้องการสร้างสังคมที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์และมีคุณภาพ บริษัทฯ จึงได้เดินหน้าพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารในหลายด้าน นับตั้งแต่เครื่องจักรที่มีคุณภาพเหนือกว่าไปจนถึงการนำเทคโนโลยีไอซีทีมาใช้ อีกทั้งยังสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารแบรนด์ บริษัท ยันม่าร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยันมาร์ยังครองความเป็นผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตร โดยมีธุรกิจหลักในประเทศญี่ปุ่น 50 % และในต่างประเทศอีก 50% ซึ่งประเทศไทยสร้างรายได้ให้กับยันมาร์เป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น แต่ในอนาคตจะมีการขยายกิจการในต่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ยันมาร์เลือกประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิต ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัท ยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพ
เนื่องจาก ยันม่าร์ ได้เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยด้วยการจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก มาตั้งแต้ในปี 2521 จวบจนปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจประกอบและจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ เครื่องยนต์ดีเซลอเนกประสงค์ขนาดเล็ก รถไถเดินตาม แทรกเตอร์ โดยเฉพาะแทรเตอร์ในตระกูล YM รถดำนา รถเกี่ยวนวด รถตัดอ้อย และอุปกรณ์ต่อพ่วงรวมทั้งเครื่องจักรสำหรับภาคอุตสาหกรรม อาทิ รถขุดขนาดเล็ก โดยมีผู้แทนจำหน่ายพร้อมศูนย์บริการทั่วประเทศ มีพนักงานในประเทศไทย 800 คน และยังมีบริษัทในเครือให้บริการสินเชื่อด้านการเกษตร คือบริษัทยันม่าร์แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัดด้วย
“ตอนนี้ภาคการเกษตรทั้งญี่ปุ่นและไทยมีปัญหาคล้ายๆกันนั่นคือการขาดแคลนแรงงาน ฉะนั้นยันมาร์จะเน้นเรื่องใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด แต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผลิตเครื่องจักรกลที่สามารถทำงานในแปลงเกษตรได้โดยอัตโนมัติ แบบการันตีคุณภาพ ซึ่งตอนนี้แทรกเตอร์ไร้คนขับในญี่ปุ่นได้จำหน่ายมากว่า 1 ปีแล้ว และได้นำไปสาธิตในประเทศไทยด้วย ส่วนประเทศไทยกำลังศึกษาดูว่า จะเหมาะสมอย่างไร นอกจากนี้เรากำลังจะพัฒนาเครื่องจักรกลในพลังงาน 2 ระบบคือพลังงานจากน้ำมันดีเซล และก๊าสเอ็นจีวี เครื่องจักรกลใช้พลังงานกาสในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงหุ่นยนต์ที่จะทำงานแทนคนได้ด้วย” ฮิโรมิ กล่าว
เธอ กล่าวด้วยว่า นอกจากที่ยันมาร์ ได้ดำเนิน 7 กลุ่มธุรกิจแล้วส่วนหนึ่งยังให้ความสำคัญของกีฬาด้วย จึงให้การสนับสนุนกีฬาฟุตบอลมาอย่างยาวนาน และเป็นพันธมิตรหลักของสโมสรฟุตบอลอาชีพในเจลีกอย่างเซเรโซ โอซาก้า(Cerezo Osaka) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2500 จากชมรมฟุตบอล Yanmar Diesel Soccer Club ในปี 2557 ยันม่าร์ได้รับสิทธิ์ในการใช้ชื่อในสนามเหย้าของเซเรโซซึ่งปัจจุบันคือสนามยันม่าร์ สเตเดี้ยม นากาอิ
นอกจากสโมสรเซเรโซ โอซาก้าแล้ว ในประเทศไทย ยันม่าร์มุ่งสนับสนุนเยาวชนที่มีความฝันด้านกีฬาฟุตบอลผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา กลุ่มยันม่าร์ได้ร่วมกับกลุ่มบางกอกกล๊าซ สโมสรบีจีปทุมยูไนเต็ด เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เยาวชนที่จบการศึกษาจาก YHA คือ ภัทรายุทธ โนรี, พงศรวิช จันทวงศ์, ตะวัน โคตรสุโพธิ์ และ ธนินท์ เกียรติเลิศธรรม ประสบความสำเร็จในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ โดยมี 2 คนที่ได้เข้าร่วมสโมสรเซเรโซ โอซาก้าด้วย