เกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลังสุดทน ส่งตัวแทยบุกกระทรวงเกษตรฯ มอบพวงหรีดให้ รมช.เกษตรฯเจ้าของฉายา “มอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย “ วอนหยุดทำร้ายเกษตรกร ชี้พาราควอตไม่ผิด พิษร้ายน้อยกว่านักการเมือง
นายวชิระ ถนัดค้า ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พร้อมด้วยเกษตรกร 60 รายตัว บุกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยอ้างว่า เป็นแทนครอบครัวเกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลัง 1.5 ล้านราย เดินทางมาจากอำเภอหนองบุญมาก ครบุรี และเสิงสาง ด่านขุนทด นครราชสีมา มอบพวงหรีดให้แก่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหตุตัดสินใจให้แบน 3 สารเคมีเกษตร “ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” โดยเฉพาะพาราคาควอต
กลุ่มตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเหล่านี้ ให้เหตุผลว่า เป็นแบนที่ยังขาดข้อเท็จจริง และขอให้หยุดอ้างผลกระทบสุขภาพประชาชน เพราะไม่จริง เป็นข้อมูลบิดเบือนที่ได้มาจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO บางกลุ่ม จึงขอย้ำว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำเป็นต้องใช้พาราควอต เพราะปลอดภัยต่อหัวมันใต้ดินมากที่สุด เนื่องจากพาราควอตไม่ดูดซึม ชาวไร่มันไม่ขัดข้องถ้าจะยกเลิกไกลโฟเซต หรือคลอร์ไพรีฟอส มันสำปะหลังใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารผ่านกระบวนการผลิตคุณภาพ ได้มาตรฐานสินค้าด้วย
การเดินทางไปยังกระทรวงเกษตรฯ ของตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในครั้งนี้ ได้พบกับนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด เลขานุการของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับเรื่องแทนพร้อม กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรู้ถึงปัญหาเกษตรกรเป็นอย่างดี และจะนำข้อเสนอเรื่องการจัดการปัญหาโรคไวรัสใบด่าง การยกเลิกการแบนสามสารเคมี และราคาผลิตผลมันสำปะหลัง ไปดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด
นายวชิระ กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 100,000 ล้านบาท เป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย 542,000 ครอบครัว หรือ 1.5 ล้านราย ในพื้นที่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคน อาหารสัตว์ เอทานอล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเช่น กระดาษ กาว ยา เป็นต้น
จากประเด็นการแบนสารพาราควอตและให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในหลายด้านส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตทางการเกษตร และมาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิต ในความเป็นจริงการนำมันสำปะหลังไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร โรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า ก็มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน ดังนั้น การห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูญหาย และกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังเส้น จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ
“เกษตรกรชาวไร่มัน ต้องออกมาวันนี้ เพราะเดือดร้อนหนัก ตั้งแต่เรื่องความล้มเหลวของภาครัฐในการป้องกันโรคไวรัสใบด่าง ต้องเผาทำลายมัน เร่งเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น การประกันราคาจากภาครัฐก็ยังไม่ตกผลึก และ มี รมช.เกษตรฯ ก็จะมาแบนพาราควอตในสภาวะที่ราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนจากราคาพาราควอตที่สูงขึ้นจากข่าวการแบนในสองปีที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ เคยลงมาถามเกษตรกรหรือไม่ ความเดือดร้อนของเกษตรกรคือสิ่งที่กระทรวงเกษตรต้องให้ความสำคัญ เร่งช่วยเหลือ ไม่ใช่มาซ้ำเติม วันนี้เรามายื่นหนังสือคัดค้านการแบนพาราควอต เร่งรัดเรื่องการประกันราคา และเร่งช่วยเหลือชาวไร่มันเรื่องโรคใบด่าง แล้วเราจะกลับมาฟังคำตอบอีกครั้ง” นายวชิระ กล่าว