มติคณะทำงาน 4 ฝ่าย เอกฉันท์ 9-0 แบน “พาราควอต” 1ธ.ค.62นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

มติคณะทำงาน 4 ฝ่าย “ส่วนรัฐ-ผู้นำเข้า- เกษตรกร-ผู้บริโภค“ เอกฉันท์ 9-0 รวมถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตรด้วย ให้แบน 3 สารพิษ “พาราควอต- ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ให้ห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย ห้ามผลิต เริ่ม 1 ธันวาคม 2562 “มนัญญา” เผยเครียมส่งมติให้นายกฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายใน 2 วันนี้ ปลื้มถือเป็นการมอบของขวัญให้คนไทยทั่วประเทศ

           เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค( 4ฝ่าย) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   เพื่อพิจารณายกเลิก สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 สาร ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามคำบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ให้ตั้งคณะทำงานพิจารณาโดยเร็ว

         น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ที่ประชุมมติ 9 ต่อ0 ให้แบน 3 สารชนิดนี้ โดยจะเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาให้สารทั้ง 3 ชนิด ซึ่งอยู่ในบัญชีประเภทที่3 ไปเป็นบัญชีประเภทที่4 ตั้งแต่วันที่‪1 ธันวาคม 2562 จะเป็นผลให้ห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต หลังจากนี้จะนำมติให้กรรมการทุกคนลงนามรับผลประชุม เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร็วๆนี้ในฐานะที่บัญชาให้ตั้งคณะทำงานชุดนี้ เพื่อพิจารณาให้เกิดความรอบครอบ และหลังจากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเดิมมีกำหนดประชุมวันที่‪ 27 ตุลาคม 2562  แต่เมื่อคณะทำงาน 4 ฝ่ายมีข้อยุติในวันนี้ คาดว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจเลื่อนการประชุมชี้ขาดขึ้นมาได้เร็วขึ้น จากกำหนดเดิม

       “ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีการพิจารณาลงมติไม่ว่าจะเปิดเผยหรือโดยลับก็ตาม แต่ในส่วนของผู้แทนกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเปิดเผยชื่อแสดงตัวต่อสาธารณะ เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะไปละเมิดการลงมติไม่ได้เป็นประเด็น ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร มีรายละเอียดครบสมบูรณ์ในเรื่องสารทดแทน วิธีการทำเกษตรทดแทน ซึ่งต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยยังมีสารเคมีอีกจำนวน หลายชนิดที่ยังใช้กันอยู่ทั่วไป เพียงแต่วันนี้เราพบว่า 3 สารนี้เป็นพิษร้ายแรงอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม จึงยกเลิกการใช้ทันที และหากในอนาคตพบว่าสารเคมีตัวอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาดหลายยี่ห้อ มีความเป็นพิษสูงจะเสนอยกเลิกตามลำดับไป” น.ส.มนัญญา กล่าว

            รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไม่มีนายทุนรายใหญ่ที่จะรอนำเข้าสารทดแทนตัวใหม่ เข้ามาในประเทศไทย เหมือนที่มีการกล่าวหาพรรคภูมิใจไทย เตรียมเปิดทางให้นายทุนพรรค นำสารเข้ามา ไม่มีทั้งสิ้นและการขออนุญาตนำเข้าไม่ได้ทำได้ในทันที เพราะต้องมีระยะการพิสูจน์พิษวิทยา และการขออนุญาตทำตามกฎหมายของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ดังนั้นอย่าห่วงเรื่องเจ้าสัวนำเข้าสารตัวใหม่ และไม่มีการตัดตอนบริษัทนำเข้า 3 สาร เพราะทั่วโลกก็แบนกัน 58 ประเทศแล้ว ดังนั้นมติครั้งนี้ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทั้งประเทศซึ่งปกติของขวัญปีใหม่เป็นวันที่‪ 1 มกราคม  แต่ในวันนี้รัฐบาลให้เป็นของขวัญกับประชาชนทันที เพราะต่อไปในเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่วันที่‪ 1 ธันวาคม 2562 คนไทยไปเที่ยวที่ไหน มีพืชพันธ์ธัญญาหารปลอดภัย อากาศบริสุทธิ์ให้กับสุขภาพคนไทย

“เรื่องนี้อธิบดี คณะกรรมการ ไม่ต้องกลัวว่า ต้องขึ้นศาล เพราะถ้าต้องขึ้น ดิฉันจะไปด้วยเพราะเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในวันนี้ดิฉันมีความพอใจระดับหนึ่ง แต่หน้าที่ยังไม่จบ ต้องอีก 3-4วันถึงจะสำเร็จถือเป็นชัยชนะของคนไทยร่วมกัน ” รมช.เกษตรฯ กล่าว

       รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค( 4ฝ่าย) ประกอบด้วย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ประธานคณะทำงาน,นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ ประธานคณะที่ปรึกษารมช.เป็นกรรมการ,น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร,นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวะกรรม กรมวิชาการเกษตร,แพทย์หญิงสุมณี วัชรสินธุ์ รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ,แพทย์หญิงศุลีกร ธนธิติกร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมโรค,น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธุ์องค์กรผู้บริโภค

      น.ส.สุภาวดี ทับทิม ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สังกัดนิคม ชะอำ เพชรบุรี น.ส.เสาวลักษณ์ พรกุลวัฒน์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย นางวิไลวรรณ พรหมคำ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชกรมวิชาการเกษตร นายมนตรี ปาป้อง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ น.ส.นัชชา ช่อมะลิ เลขานุการคณะที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ ทั้งนี้ในการประชุม สมาคมอารักขาพืช ได้มีหนังสือแจ้งที่ประชุมว่าไม่ได้เข้าร่วม ติดภารกิจต่างประเทศ ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย

                                                                           เสริมสุข สลักเพ็ชร์

     รายงานข่าว แจ้งอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตุ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้ยึดมั่นในหลักการเสมอมาว่า การยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำเป็นต้องมีข้อมูลและเหตุผลประกอบการยกเลิกที่ชัดเจนและเพียงพอ เช่น ข้อมูลความเป็นพิษของสารเคมีต่อสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ รวมถึงการตกค้างในพืชและสิ่งแวดล้อม และมีสารที่ใช้ทดแทน แต่จากการดูมติในครั้งนี้ไม่มีการคัดค้า หรืองดการออกเสียงแต่อย่างใด