“เสริมสุข”ชี้ชัดหลักเกณฑ์แบนสารเคมีต้องใช้หลักวิชาการนำก่อนตัดสิน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร  ชี้เงื่อนไขยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย ต้องใช้ข้อมูลวิชาการหนุนหลายประเด็น ทั้งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม มีพิษเฉียบพลันสูง  เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ได้ง่าย และมีสารใช้ทดแทนที่เหมาะสม เผยที่ผ่านมาได้ชงให้แบนสารไปแล้ว 98 ชนิด  ยอมรับหากคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมีมติประการใด กรมวิชาการเกษตรก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามทุกประการ

       นางสาวเสริมสุข   สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ชี้แจงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรณีที่จะยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรว่า ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีชนิดก็ตาม   ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ได้แก่  ข้อมูลความเป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน   ข้อมูลการตกค้างพบว่ามีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม   เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง  และเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ได้ง่าย   เป็นสารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ  และมีสารใช้ทดแทนที่เหมาะสม

        ดังนั้นเมื่อกรมวิชาการเกษตร ได้พิจารณาภายใต้ข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และขาย เพื่อออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายต่อไป โดยปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้เสนอห้ามใช้วัตถุอันตรายไปแล้ว 98 ชนิด โดยมีเหตุผล ได้แก่ เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง  มีพิษตกค้างนาน  ทำให้เกิดพิษสะสมในดินได้นาน  และเป็นสารที่ทำให้ตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติ   

       นอกจากนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  กรมวิชาการเกษตรได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง   โดยมีหลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวัง ได้แก่ เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง  เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ได้ง่าย   มีข้อมูลว่าเป็นสารที่มีพิษเรื้อรัง และเป็นผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์ทดลอง    เป็นสารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญารอตเตอร์ดัม

       สำหรับสารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญานี้ต้องมีการแจ้งก่อนการนำเข้า   อนุสัญญาสตอกโฮล์ม  ซึ่งสารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญานี้เป็นสารที่มีความเป็นพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน   และพิธีสารมอนทรีออล  โดยสารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญานี้เป็นสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน    นอกจากนี้ยังเป็นสารที่มีพิษตกค้างสะสมในสิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดได้ในห่วงโซ่อาหาร   เป็นสารที่สลายตัวยาก   และมีความคงทนในสภาพแวดล้อม   เป็นสารที่เป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อพืชหรือสัตว์ที่เป็นประโยชน์   และเป็นสารที่ถูกห้ามใช้ หรือ เฝ้าระวัง หรือ จำกัดการใช้ในต่างประเทศ 

        “ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีวัตถุอันตรายที่อยู่ในบัญชีที่ต้องเฝ้าระวังตามหลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวแล้วรวม 18 ชนิด ซึ่ง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ก็ถูกจัดรวมอยู่ด้วย  โดยหากคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายมีมติประการใดเกี่ยวกับวัตถุอันตราย  กรมวิชาการเกษตรก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามทุกประการ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว