“ลักษณ์” มั่นใจยางพารายังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เชื่อหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น สงครามทางการค้าคลี่คลาย และราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ สถานการณ์ราคายางพาราจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานวันยางพาราจังหวัดบึงกาฬ ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล” ณ ที่ว่าการอำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ว่า การจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราภาคอีสาน และศูนย์กลางการค้ายางพาราของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการจัดงานดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่
1. “สนับสนุน” ให้เกิดการผลิต การแปรรูป และการวิจัยอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ, 2. “ผลักดัน” การค้าขายและการลงทุนของอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ 3. “ส่งเสริม” การท่องเที่ยวในจังหวัดเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างแหล่งรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวบึงกาฬ
อีกทั้งเสริมศักยภาพของเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อตอกย้ำการเป็นเมืองศูนย์กลางยางพาราของภาคอีสานที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทและอุตสาหกรรมการค้ายางพาราจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมยางพาราในโซน China Pavilion อันเป็นการต่อยอดธุรกิจยางพาราของบึงกาฬ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจการค้ายางพารา สู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราของภาคอีสาน และที่สำคัญคือเป็นการเปิดประตูการค้าระดับนานาชาติด้วย
นายลักษณ์ กล่าวอีก จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดทางภาคอีสานของประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุด และมีศักยภาพ รวมทั้งมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นหนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศได้ไม่ยาก เพราะทุกภาคส่วนต่างมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนายางพาราทั้งระบบ ปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์ราคายางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง แต่จะเห็นได้ว่าจังหวัดบึงกาฬ ได้บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนภายในจังหวัดตามแนวนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างถนนยางพาราแอสฟัลติก (Para asphaltic) ในการอำนวยความสะดวกทางด้านการคมนาคมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ที่นอน หมอนยางพาราในโรงพยาบาล และหน่วยงานราชการ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ชิด เป็นต้น
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนในจังหวัดยังช่วยกันขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมใช้ยางในประเทศ และการจับมือค้าขายกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราอย่างเต็มที่ในทุกมิติ และถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีความยั่งยืน
สำหรับสถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันและแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในภาพรวม ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีข้อสั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ภายใต้ความตกลงของสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ ดำเนินควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา จำนวน 350,000 ตัน ตามโครงการ Agreed Export Tonage Scheme ในช่วงเดือน ม.ค. ถึงเดือน มี.ค. 2561 การลดพื้นที่กรีดยางพารา ตามโครงการ Supply Management Scheme จำนวน 496,000 ไร่ ในช่วงเดือน ต.ค. 2560 – ก.ย. 2561 และการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ตามโครงการ Demand Promotion Scheme เช่น ให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพาราไปผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ
สำหรับการใช้งาน การสร้างถนนยางพารา การส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างประเทศในการผลิตล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวม แปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราอีกหลายโครงการ และในช่วงกลางปี 2561 นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมให้แก่กรมชลประทาน จำนวน 3,500 ล้านบาทเพื่อนำไปจัดสร้างถนนยางพาราในเขตพื้นที่ชลประทาน ทั้งประเภทถนนลาดยางมะตอยผสมยางพารา (Para asphaltic concrete) และถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา (Para Soil Cement)
ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสามารถนำยางพาราไปใช้ประโยชน์เพื่อการนี้ได้ อีกทั้งได้จัดสรรงบประมาณให้แก่ กยท. และกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ชาวสวนยางรายย่อยกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชหรือเลี้ยงปศุสัตว์ในสวนยาง เพื่อเสริมรายได้ตามข้อเสนอของกลุ่มชาวสวนยางรายย่อย ซึ่งถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มุ่งสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกหลายประการ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกในภาพรวมชะลอตัวลง มีสงครามทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นคู่ค้าและนำเข้ายางพาราจากประเทศไทย และราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน เข้ามาซ้ำเติมในช่วงปลายปี ทำให้สถานการณ์ราคายางพารายังไม่ดีขึ้น นายกรัฐมนตรี จึงได้เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 รวม 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการช่วยเหลือ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวสวนยาง วงเงิน 17,512 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยางตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (กรณีมีคนกรีดยาง แบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่) เริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม 2561
2.โครงการสินเชื่อสนับสนุนการส่งออกยางพาราของสถาบันเกษตรกร วงเงิน 5,000 ล้านบาท และ 3) โครงการสร้างถนนยางพาราในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 75,032 หมู่บ้าน 7,200 ตำบล และสร้างถนนคันคลองชลประทานใน 53 จังหวัด โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำรายละเอียดโครงการและงบประมาณเพื่อขออนุมัติต่อไป ซึ่งในปัจจุบันกรมทางหลวงได้จัดทำข้อกำหนดหรือ Spec. ของถนนท้องถิ่นดังกล่าวและกรมบัญชีกลางได้กำหนดและประกาศวิธีการกำหนดราคากลางเรียบร้อยแล้ว
“ผมมีความเชื่อมั่นว่ายางพารายังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น สงครามทางการค้าคลี่คลาย และราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ สถานการณ์ราคายางพาราจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน จึงขอให้พี่น้องชาวสวนยางอดทนและมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ” นายลักษณ์ กล่าว