สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์
วันที่ 15-19 ตุลาคม 2561
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
ในสัปดาห์นี้มีการคาดการณ์ราคาว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงมีการกักตุนสินค้าในสต๊อกจึงทำให้มีสินค้าออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้น จากราคาหาบละ 570 บาท เป็นหาบละ 588 บาท
ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโกประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2561 รอบส่งมอบเดือนธันวาคม ราคาอยู่ที่ 374.25 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากตลาดมองว่าผลผลิตข้าวโพดสหรัฐอเมริกาในปีนี้อาจไม่ได้สูงมากเหมือนอย่างที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯประเมิน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นสต็อกข้าวโพดสหรัฐฯ ในสิ้นปีหน้าก็อาจลดลงจนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะการเก็บเกี่ยวในพื้นที่เพาะปลูกภาคตะวันตกของสหรัฐฯ มีอุปสรรคจากดินแฉะเพราะฝนตกชุก แนวโน้มราคายืนแข็งหากฝนตกน้อยลง
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง
[adrotate banner=”3″]
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
สัปดาห์นี้ราคากากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ทรงตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 16.00 บาท
สำหรับราคากากถั่วเหลืองและเมล็ดถั่วเหลือง ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2561 โดยกากถั่วเหลืองรอบส่งมอบเดือนธันวาคม ราคาอยู่ที่ 323.70 เหรียญสหรัฐฯ/ชอร์ตตัน ส่วนเมล็ดถั่วเหลืองรอบส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ราคาอยู่ที่ 885.75 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเก็บเกี่ยวล่าช้า ในขณะที่ด้านอุปสงค์ดีขึ้น ทั้งจากการใช้เมล็ดถั่วของโรงงานสกัดน้ำมัน และการส่งออกถั่วเหลืองสหรัฐฯ ทำให้มีแนวโน้มยืนแข็ง
ราคาข้าวและปลายข้าวส่งออกในสัปดาห์นี้ราคาปรับสูงขึ้น เนื่องด้วยคาดว่าอุปสงค์จากประเทศฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่จะเริ่มออกสู่ตลาดอีกครั้ง โดยข้าวขาว 100 % ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาอยู่ที่ตันละ 434 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี.ราคาตันละ 360 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านการซื้อขายข้าวตลาดในประเทศก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาอยู่ที่กระสอบละ 1,280 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ราคากระสอบละ 1,020 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวในประเทศน่าจะทรงตัว
แนวโน้มตลาดส่งออกยังคงเงียบเหงา เนื่องจากตลาดจีนเข้าสู่ช่วงท้ายของการใช้ปลาป่น ทำให้คำสั่งซื้อมีไม่มากนัก ประกอบกับข่าวลือเกี่ยวกับโควต้าการจับปลารอบใหม่ของเปรูที่จะสูงถึง 2.0-2.5 ล้านตัน ทำให้ราคาปรับตัวอ่อนลง ส่วนในประเทศไทยเนื่องจากเข้าสู่ช่วง low season ของการเลี้ยงกุ้ง ความต้องการซื้อปลาป่นจึงลดลงทำให้ราคาที่โรงอาหารสัตว์ปรับตัวอ่อนลงตาม
แต่อย่างไรก็ตามปริมาณผลผลิตยังคงสมดุลกับการใช้ ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมในสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยปลาป่นเกรดกุ้งราคากิโลกรัมละ 50.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 44.20 บาท และเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคากิโลกรัมละ 40.70 บาท
ส่วนปลาป่นคุณภาพรองลงมาปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 42.20 บาท และปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคากิโลกรัมละ 38.70 บาท
สุกร : ราคายืนแข็ง
เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่เทศกาลออกพรรษา และเทศกาลทอดกฐิน ถือเป็นงานบุญงานใหญ่ประจำปี จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภค ทำให้ประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติราคายืนแข็งอยู่ที่ 63-67 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาตัวละ 1,700 บาท (บวก/ลบ 60)
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
สัปดาห์นี้ยังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวของเทศกาลกินเจ รวมถึงเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา การบริโภคเนื้อไก่จึงชะลอตัวต่อเนื่อง แต่เนื่องด้วยผู้เลี้ยงไก่อิสระได้วางแผนเข้าเลี้ยงลูกไก่ลดลงไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการบริโภค พร้อมทั้งจำหน่ายไก่ใหญ่ที่คงค้างได้หมดจนเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อทรงตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 33 บาท
ส่วนลูกไก่เนื้อราคาทรงตัวที่ตัวละ 10.50 บาท สำหรับลูกไก่ไข่ลดลงจากตัวละ 15.00 บาท เป็นตัวละ 13 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะยืนอ่อน
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจากการสำรวจทั่วไป ทรงตัวที่ราคาฟองละ 2.30 บาท เป็นผลมาจากช่วงเทศกาลกินเจทำให้การบริโภคไข่ไก่ทรงตัว
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะยืนอ่อน
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF