“กฤษฎา”ชี้โครงการรับเบอร์ ซิตี้ ก้าวหน้าไปกว่า 70% แล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  
        นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “นวัตกรรมยางพาราไทย” Thailand Rubber Innovation Expo 2018 ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่า งาน “นวัตกรรมยางพาราไทย” Thailand Rubber Innovation Expo 2018 ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 กันยายน 2561 ภายใต้แนวคิด “Rubber is Life ยางคือชีวิต”
       วัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสทางด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการ เป็นการส่งเสริมสนับสนุน และเปิดช่องทางด้านการตลาดของยางพาราในจังหวัดสงขลา สามารถเชื่อมโยงตลาดกลางยางพาราทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้งยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงาน อาทิ การเสวนา การบรรยายให้ความรู้แก่เกษตรกรโดยวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับยางพาราตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง การแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยีเกี่ยวกับยางพารา การออกบูธจำหน่ายสินค้า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เจรจาธุรกิจเพื่อขยายช่องทางการตลาดและผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง เป็นต้น

       “การจัดงานในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พบปะผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยรับฟังความต้องการที่จะให้รัฐบาลเข้าไปสนับสนุนด้านใดบ้าง ทำอย่างไรจะเพิ่มกำลังการซื้อยางพาราให้มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้ซื้อยางพาราจากหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มตัวเลือกผู้ค้าในตลาดยางพาราให้หลากหลาย เช่น สหกรณ์การเกษตร การยางแห่งประเทศไทย และจากการแสดงนวัตกรรมต่าง ๆ ในวันนี้ พบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางพาราหลายชนิดที่น่าสนใจและควรส่งเสริม ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มปริมาณการใช้ยางให้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง ขณะที่ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรับเบอร์ ซิตี้ ก้าวหน้าไปกว่า 70% มีหลายโครงการที่น่าสนใจ เช่น การนำยางพาราเก่าไปแปรรูปเป็นพลังงาน เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังก่อสร้างโรงงาน คาดว่าอีก 1 ปีจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีความต้องการยางพาราส่งเข้าโรงงานถึงปีละ 500,000 ตัน” นายกฤษฎา กล่าว

[adrotate banner=”3″]

         ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท เซี่ยงไฮ้-ไทย รับเบอร์ โปรดักส์ จำกัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างโรงงานบนพื้นที่ 500 ไร่ ของโครงการรับเบอร์ ซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ โดยการประสานความร่วมมือเพื่อผลิตนวัตกรรมจากงานผลวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ด้วย