กระทรวงเกษตรฯ ชูความสำเร็จ “โนนเขวาโมเดล” ต้นแบบแปลงใหญ่กลุ่มเกษตรกรทำสวน ภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิต โดยมีเทสโก้ โลตัสเป็นผู้รับซื้อ สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรเป็นอย่างดี
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (Packing House) ณ บ้านโนนเขวา ต.ดอนหันอ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต และเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขัน ผ่านตลาดและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ด้วยการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีแปลงติดต่อกัน แต่อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมการเกษตรแบบแปลงใหญ่กว่า 277,127 ราย จำนวน 3,724,607 ไร่ แบ่งเป็น 11 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร เป็นต้น
โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวามี 110 ราย รวมพลังขับเคลื่อนแนวคิดเกษตรแปลงใหญ่ รวบรวมผักปลูกบนพื้นที่รวมกว่า 450 ไร่ ปลูกพืชผักที่ปลูกขายมี 9 ชนิด ได้แก่ คะน้าต้น คะน้ายอด กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน คื่นช่าย ผักชีไทย ใบกระเพรา ผักกาดหอม ต้นหอม ซึ่งทั้งเกษตรกรและผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ทุกราย ทุกชนิดพืช และขณะนี้สามารถขยับปริมาณการส่งผลผลิตได้ถึง 13 ตัน/สัปดาห์ โดยภาคเอกชนคือห้างฯเทสโก้ โลตัส เป็นผู้รับซื้อทั้งหมด มูลค่าเดือนละกว่า 1,354,528 บาท โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน (ตั้งแต่มีนาคม 2561จนถึงปัจจุบัน) จากเดิมที่ส่งได้ 5 – 8 ตัน/สัปดาห์ มูลค่า 172,000 บาท
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม กระทรวงเกษตรฯ ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ รวมทั้งให้แสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากภาคเอกชนในการประสานข้อมูลความต้องการด้านการตลาด จับคู่กับภาคการผลิตของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร โดยใช้กลไกลการขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน พิจารณาว่าสินค้าใดเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ผลิตยังไม่เพียงพอ สินค้าใดที่มีปัญหาจำเป็นต้องแก้ไข ล้นตลาด ราคาตกต่ำตามฤดูกาล
[adrotate banner=”3″]
ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรครบวงจรในพื้นที่จังหวัด มีการสร้างการรับรู้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจ สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ผลิตสินค้าตามมาตรฐาน แปรรูป ออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิต จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานผลักดันส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้มีรายได้ที่แน่นอน และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
”ขณะนี้กระทรรวงเกษตร กำลังให้เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบาล พัฒนาที่ ชลประทาน ไปสำรวจพื้นที่ ที่เกษตรกรสมัครใจไม่ต้องการทำนาครั้งที่สอง เพื่อปลูกพืชชนิดอื่น โดยกระทรวงเกษตรจะหากับภาคเอกชน รวมถึงเทศโก้โลตัสให้รับซื้อผลผลิตทางเกษตรจากเกาตรกร เหมือนกับที่จากเกษตรกรที่บ้านโนนเขวาแห่งนี้ เพื่อตอบโจทย์การตลาดนำการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ราคายางพาราตกต่ำ ให้เทศโก้-โลตัส ช่วยหาแนวทางว่า จะปลูกพืชอื่นในระหว่างร่องสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนปลูกพืชขายให้กับโลตัสเหมือนที่ขอนขอนแก่น” นายกฤษฎา กล่าว