กรมส่งเสริมการเกษตร “ปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่” (Young Smart Farmer)

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าปั้น เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) คู่กับนักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ (Future DOAE) พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงย้อนไปเมื่อปี 2541 เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและภาคการเกษตรของไทยมาตามลำดับ โดยประชากรภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงประมาณปีละ 400,000 คน ต่อปี ทั้งจากการไม่มีผู้สืบทอดอาชีพเกษตร การย้ายแรงงงานมาย้สู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งการเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ทั้งในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งประชากรในภาคเกษตรกรรมมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงต่ำกว่าประชากรภาคอื่น เนื่องจากทักษะของเกษตรกรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเทคนิคที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกพอสมควร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีนโยบายเร่งรัดการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพสูงในการผลิตทางการเกษตรทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก ทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่ลดจำนวนลง และพัฒนาให้เป็นบุคลากรที่สำคัญของภาคเกษตรกรรม สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น รองรับต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางด้านการเกษตร และสร้างเศรษฐกิจได้จากภาคเกษตรกรรม


นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี ปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer 7,598 ราย ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนำไปสู่การเกิดเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ ซึ่งกรมฯ ยึดหลักการสำคัญ คือ ต้องพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยใช้เครือข่ายเป็นเป้าหมายและกลไกในการพัฒนาให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้บนหลักการของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีส่วนร่วม และการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามความยั่งยืนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกษตรกรต้องเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีนักส่งเสริมการเกษตรเป็นตัวแทนภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้จึงเป็นที่มาของนักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ หรือ Future DOAE จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกรอบความคิด เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีความคิดสร้างสรรค์ และปรับเปลี่ยนทักษะ-พฤติกรรมให้ทันสมัย สร้างการยอมรับ และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสูง รอบรู้ทั้งทางด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เท่าทันสถานการณ์ ซึ่งการพัฒนาตนเองนี้จะนำไปสู่การพัฒนางานในความรับผิดชอบในที่สุด


“ผมได้สร้างนักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ หรือ Future DOAE โดยคัดเลือกจากนักส่งเสริมการเกษตร ทั่วประเทศ ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีความพร้อมเติมเต็มความรู้หลายๆ ด้าน แบ่งเป็นรุ่นๆ รุ่นละ 100 คน ซึ่งมาถึงตอนนี้มี ทั้งหมด 300 คน จัดอบรมเติมเต็มความรู้ให้กับน้องๆ เหล่านี้ หลายหลักสูตรที่จำเป็นต่อการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร เช่น หลักสูตรห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรไทย หลักสูตรการพัฒนาภาวะผู้นำยุคใหม่ : Building Gen Y to be a trusted partner หลักสูตรการพัฒนาภาวะผู้นำ 7- Habit นอกจากนี้ ยังได้ให้น้องๆ เหล่านี้คัดเลือกกันเองอีก 50 คน เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ และไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นการเปิดมุมมองที่แตกต่าง มากกว่าไปดูการพัฒนาภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก แต่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติได้อย่างดี ผมจึงวางให้น้องๆ ได้เห็นในหลายๆ มิติ ทั้งการเมือง สังคม การเกษตร เพราะการพัฒนาคนจำเป็นที่จะต้องค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ เติบเต็มความรู้ ค่อยๆ สอน ผมคาดหวังว่าน้องๆ คงไม่ได้ซึมซับแต่เฉพาะมุมมองด้านการเกษตร แต่ผมคาดหวังไปถึงการมองเห็นความเจริญ แนวทางการกำหนดนโยบาย การวางเป้าหมายการพัฒนาในด้านต่างๆ และคาดหวังให้น้องๆ นำกลับมาถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับให้กับเพื่อนนักส่งเสริมการเกษตรด้วยกันเอง รวมถึงเกษตรกรด้วย


การสร้างนักส่งเสริมการเกษตรรุ่นใหม่ หรือ Future DOAE จึงเริ่มต้นจาก 300 คนนี้ และคาดหวัง ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 300 กลายเป็น 600 หรือ 1,000 จนทุกคนในกรม ฯ มีศักยภาพและมุมมองไปในแนวทางที่ตอบสนองและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกาย และเป็นบุคลากรที่พร้อมจะเติบโตเป็นรากฐานสำคัญ และเป็นพลังสำคัญให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ประเทศชาติ ให้กับภาคการเกษตรต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปทุกวัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างตัวตนของนักส่งเสริมการเกษตร ให้เข้มแข็ง ทั้งจิตใจ ร่างกาย และองค์ความรู้ พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเชื่อว่าภายในระยะเวลา 5 ปี 10 ปี ข้างหน้านี้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในหลายด้าน นักส่งเสริมการเกษตรจะกลายเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ เพราะสามารถเรียนรู้การคิด วิเคราะห์ และการแก้ปัญหาได้เอง และสามารถเดินเคียงข้างเกษตรกรได้ตลอดไปตามสโลแกน “50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติกับเกษตรกรดุจญาติมิตร