สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ข้าวขึ้น ข้าวโพดลดลง

  •  
  •  
  •  
  •  

                สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์

                                  วันที่ 6-10 สิงหาคม 2561

ข้าวโพด : ราคาลดลง

            สัปดาห์นี้ข้าวโพด ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ ราคาลดลงจากราคาหาบละ 537 บาท เป็น 531 บาท เนื่องจากมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ท้องตลาดต่อเนื่อง

ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2561 รอบส่งมอบเดือนกันยายน ราคา 365.00 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนในพื้นที่เพาะปลูกของสหรัฐอเมริกากระทบกบผลผลิตข้าวโพด ส่วนภาวะส่งออกของสหรัฐฯ ดีขึ้นเป็นผลจากผลผลิตข้าวโพดของบราซิลปีนี้ลดลงจากปีก่อน ทำให้ผู้ซื้อจึงหันมาซื้อจากสหรัฐฯมากขึ้น กอปรกับภาวะอากาศร้อนที่กระทบกับการผลิตข้าวโพดของประชาคมยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าปีนี้ผลผลิตจะลดลงเป็น 12.8 ล้านตัน หรือลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.9 แนวโน้มราคาข้าวโพดต่างประเทศน่าจะยังคงยืนแข็ง

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนอ่อน

[adrotate banner=”3″] 

ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว

ราคากากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าสัปดาห์นี้ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 16.75 บาท โดยจีนลดปริมาณการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ โดยหันไปซื้อกากถั่วเหลืองจากบราซิลและอาร์เจนตินามากขึ้น

ส่วนราคากากถั่วเหลือง ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2561 รอบส่งมอบเดือนสิงหาคม ราคา 332.70 เหรียญสหรัฐฯ/ชอร์ตตัน เป็นราคาที่ปรับลดลง เนื่องจากสต็อกถั่วเหลืองของโรงสกัดน้ำมันเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ส่วนเมล็ดถั่วเหลืองราคา 889.25 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่สูงขึ้น เนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนกระทบผลผลิตถั่วเหลืองของสหรัฐฯ และการส่งออกของสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ค้ามีความคาดหวังว่าหากข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนคลี่คลาย จีนจะกลับมาซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ อีกครั้ง

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองน่าจะยืนแข็ง

ปลาป่น : ราคาทรงตัว

สัปดาห์นี้มีสินค้าปลาป่นจากเปรูเริ่มเข้ามาทางเมืองจีนมากขึ้น สำหรับภายในประเทศโดยรวมราคาเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตปลาป่นที่มีอยู่น้อย เป็นผลมาจากในช่วงนี้มีคลื่นลมแรง การจับปลาจึงทำได้ยาก ขณะที่ปริมาณการใช้ยังใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมยืนราคาเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลาป่นเกรดกุ้ง ราคากิโลกรัมละ 45.50 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป กิโลกรัมละ 42.20 บาท และเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน กิโลกรัมละ 39.70 บาท

สำหรับปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 40.20 บาท และปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคากิโลกรัมละ 37.70 บาท

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว

ข้าว : ราคาเพิ่มขึ้น

การซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้คึกคักขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดต่างประเทศโดยรวมเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 420เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 425 เหรียญสหรัฐฯ ด้านราคาปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาปรับลงจากตันละ 359 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 342 เหรียญสหรัฐฯ

ส่วนการซื้อขายข้าวตลาดในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคาปรับขึ้นจากกระสอบละ 1,250 เป็นกระสอบละ 1,270 บาท ด้านปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาปรับลดลงจากกระสอบละ 1,050 บาท เป็นกระสอบละ 1,000 บาท

    แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวในประเทศน่าจะทรงตัว

สุกร : ราคาทรงตัว

            สัปดาห์นี้ความต้องการสุกรขุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณสุกรขุนที่ออกตลาดน้อยลง แสดงให้เห็นถึงทิศทางตลาดเชิงปริมาณอย่างชัดเจน ทั้งนี้ราคาประกาศสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในสัปดาห์นี้ยังยืนราคาที่ 60-66 บาทต่อกิโลกรัม ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาทรงตัวที่ตัวละ 1,700 บาท (บวกลบ 60)

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะยืนแข็ง

 ไก่เนื้อ : ราคายืนแข็ง

            ในช่วงสัปดาห์นี้ภาคกลางมีปริมาณฝนตกน้อยลงส่งผลให้การจับจ่ายของผู้บริโภคดีขึ้น ประกอบกับมีวันหยุดติดต่อกันทำให้การบริโภคกระเตื้องขึ้น ขณะที่ปริมาณไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดลดลง ทำให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อยืนแข็งที่กิโลกรัมละ 35 บาท

ด้านลูกไก่เนื้อยืนราคาที่ตัวละ 10.50 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ทรงตัว ตัวละ 18.00 บาท

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว

 ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว

ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ท้องตลาดในสัปดาห์นี้สมดุลกับการบริโภค ส่งผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจากการสำรวจทั่วไปในตลาด ยืนราคาที่ฟองละ 2.60 บาท

            แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF