6 หน่วยงานจับมือพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลเป้า30 ล้านราย

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการ 6 หน่วยงาน จับมือลงนาม  MOU การพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรครอบคลุมใหญ่ทั่วประเทศไทยกว่า 30 ล้านราย ชี้ก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีระเบียบกระทรวงการคลังรองรับแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด

       นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในโครงการวิจัยนี้ มีระยะเวลา 3 ปี

         จุดประสงค์เพื่อให้หน่วยงานทั้ง 6 ฝ่าย ร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรที่เหมาะสมและครอบคลุมเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศไทย รวมทั้งศึกษาบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐในการผลักดันการพัฒนาตลาดประกันภัยพืชผลที่ยั่งยืนของประเทศ และร่วมกันนำระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่พัฒนาไว้ไปทดลองใช้จริงในพื้นที่นำร่องกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะนำมาซึ่งองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และเพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมในการนำไปใช้จริงในวงกว้างทั่วประเทศต่อไป

         สำหรับการลงนามในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพของเกษตรกร และสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยพืชผลกรณีประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีระเบียบกระทรวงการคลังรองรับแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด ซึ่งระบบประกันภัยพืชผลดังกล่าว ภาครัฐจะช่วยชำระเบี้ยประกันผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 80% และเกษตรกรผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกัน 20%

       นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนประกันภัยนี้ โดยจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการของรัฐ เช่น การสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่เหมาะสม มีตลาดรองรับ และมีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดได้อีกทางหนึ่ง นอกจากการประกันภัยข้าว 30 ล้านไร่ ครอบคลุมเกษตรกร 3 ล้านรายแล้ว ขณะนี้ได้เตรียมระบบการประกันภัยสำหรับพืชอื่นไว้ด้วย อาทิ ข้าวโพด ปศุสัตว์ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการระบบประกันภัยได้ในเดือน เมษายน 2562นี้

      “ปัจจุบันประเทศไทยมีประกันภัยข้าวนาปีมาตั้งแต่ปี 2554 แต่มีอุปสรรคเพราะขาดแคลนข้อมูลความเสี่ยงที่ถูกต้องของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่งผลให้ผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่สามารถคิดอัตราเบี้ยประกันที่สะท้อนความเสี่ยงจริงได้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังมีอุปสรรคในการประเมินความเสียหายรายเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทำให้การจ่ายค่าสินไหมอาจล่าช้าและไม่ครอบคลุมความเสียหายจริง ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของเกษตรกร” นายกฤษฎา กล่าว

[adrotate banner=”3″]

        อย่างไรก็ตามในอดีตจึงมีเกษตรกรสมัครใจจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพื่อเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลเป็นส่วนน้อย แต่จากความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าจะเกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ 1) ระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่ครอบคลุมและยั่งยืนขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพิ่มเสถียรภาพทางการเงินให้เกษตรกร สถาบันการเงินภาคเกษตร ตลอดถึงลดภาระทางการคลังของรัฐบาลในระยะยาว 2) ระบบฐานข้อมูลภาคเกษตรที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เกษตรกรได้หลากหลายมากขึ้น เช่นการทำ Credit scoring ที่แม่นยำขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อให้กับเกษตรกร และสามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่น ๆ เพื่อต่อยอดทางนโยบายได้ และ 3) Mobile application ที่ครบวงจรขึ้น ทั้งในการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเป็นทั้งผู้สร้าง ข้อมูลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และผู้ใช้ข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภาคเกษตรไปพร้อม ๆ กับการเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยี และบริการทางการเงินอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย

        ทั้งนี้ การร่วมมือข้างต้น มีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัยเป็นที่ปรึกษาโครงการด้วย