ปันที่ดิน ไว้กินผัก 

  •  
  •  
  •  
  •  

เครือข่ายอาหารปลอดภัยในเมือง เมื่อการบริโภค วิถีชีวิต และความสนุกสนานเกิดขึ้นพร้อมๆกัน

ผู้เขียนจำเมนูมื้อกลางวันในกิจกรรม “กินข้าวในสวน” ครั้งที่ 2 ได้เป็นอย่างดี บนโต๊ะสีขาวตัวนั้น มันประกอบไปด้วย ไข่เจียว ปลาทอด น้ำพริก ซึ่งเป็นโปรตีนหลัก ส่วนที่มากกว่าเมนูข้างต้นคือบรรดาสารพัดผัก ทั้งสด ลวก ผัด และต้มจืดหม้อใหญ่

พูดถึงกิจกรรมกินข้าวในสวนอาจฟังดูแปลกๆ แต่ถ้าพูดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สวนผักคนเมือง” หลายคนคงคุ้นหู เพราะโครงการที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินอยู่นี้ถูกขับเคลื่อนมาราวๆ 6-7 ปีแล้ว

IMG_20180721_123729

วรางคนางค์ นิ้มหัตถาหัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง บอกว่า การสร้างเครือข่ายสวนผักคนเมืองยังเน้นเรื่องการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง การทำเกษตรกรรมในพื้นที่เล็กๆแบบปลอดสารเคมี ทั้งนี้เพื่อยกระดับเรื่องอาหาร ส่งเสริมการบริโภคผัก โดยมีกิจกรรมต่างๆคอยหนุนเสริม อย่าง Workshop ปลูกผักบนดาดฟ้า สอนทำเมนูอาหารจากผักที่ปลูกเอง รวมไปถึงการนัดแนะมาทานข้าวในสวน ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงให้คนเมืองได้เข้าถึงอาหารที่ดี สะอาด ปลอดภัย

“ในปีนี้ (ก.ย.-60-31ธ.ค.61) โครงการใช้ตีมว่า ‘สวนผักคนเมืองเพื่อพัฒนาระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืนของเมือง’ โดยมี 25 โครงการ 25 พื้นที่รูปธรรม แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่เน้นเรื่องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ที่เห็นการเชื่อมโยงกับสำนักเขตในกรุงเทพ การพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชนเมือง จำนวน 16 พื้นที่ กับอีก 9 โครงการที่มีตีมเรื่องการทำแลนด์แชร์ริ่ง (Land sharing) ซึ่งเน้นเรื่องการแบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต

ปันที่ดินไว้กินผัก

Land Sharing หรือการประสานประโยชน์ทางที่ดิน เป็นแนวคิดการแบ่งปันที่ดินเพื่อการทำเกษตรในเมืองที่มีมานานแล้ว จุดประสงค์ดั้งเดิมก็เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหารในเมืองโดยเฉพาะเมืองซึ่งเติบโตทางอุตสาหกรรม มีการย้ายถิ่นเข้าเมืองของผู้คนจำนวนมาก

ในกรุงเทพฯก็เช่นกัน มีการสำรวจพบว่า มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจำนวนไม่น้อย ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพมา ขณะเดียวกันคนเมืองก็มีความต้องการจะสร้างพื้นที่สีเขียวรอบๆตัวเอง และที่สำคัญคือ การทำเกษตรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทุ่มเทแรงงาน การมีเครือข่ายจะส่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าต่างคนต่างทำ

ติรยศ พงษ์วิพันธุ์ เจ้าของพื้นที่สวนผัก FarmFriends พุทธมณฑลสาย 2 บอกว่า มีที่ว่างเปล่าจำนวนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ลงมือปลูกกับเพื่อนไม่กี่คน เมื่อได้ยินถึงการแบ่งปันที่ดินก็รู้สึกสนใจ จึงนำเสนอพื้นที่กับโครงการ โดยการแบ่งปันพื้นที่นั้นนอกจากช่วยให้พื้นที่ว่างเปล่าได้เกิดประโยชน์แล้ว ยังหมายถึงการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่ สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง และเชื่อมต่อกับการพัฒนาสุขภาพ วิถีชีวิต เกิดการยอมรับว่าเกษตรในเมืองเป็นประเด็นของการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน

“อย่างกิจกรรมกินข้าวในสวนครั้งที่ 2 เราเริ่มจากเข้าสวนเพื่อทำกับข้าว รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน จากนั้นจะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเทคนิค ลงมือปฏิบัติจริง สิ่งสำคัญที่ผมลุกขึ้นมาทำคือการที่เรามักเคยได้ยินว่าในช่วงอาหารเจผักจะแพง หรือผักที่มีเครื่องหมายปลอดภัยดันมีสารตกค้าง เราเลยคิดว่าการปลูกกินเองดีที่สุด เพราะคงไม่มีใครจะวางยาให้ตัวเอง”

IMG_20180721_115840

สวนผักแฟมิลี่

ถ้าถามว่าคนที่มาร่วมกิจกรรมปลูกผักเป็นใครก็ต้องบอกว่าคนเหล่านี้มีหลากหลาย ตั้งแต่เยาวชนที่มองว่าเทรนด์ของการสร้างอาหารว่าเป็นแนวคิดซึ่งมีความจำเป็นกับโลกใหม่ กับกลุ่มคนทำงานที่ต้องการสมดุลชีวิตในวันหยุดสุดสัปดาห์

เดชชาติ วัฒน์พานิช พนักงานบริษัท บอกว่า ก่อนหน้าบริษัทเคยไปฝึกอบรมกับศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติซึ่งได้ให้พื้นฐานในเรื่องแนวคิด จนทำให้ตนเองซึมซับไปกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างอาหารเพื่อพอกิน พอใช้ พออยู่

“ถ้าเรารู้จักปลูก เราสามารถใช้ประโยชน์จากพืชได้ครอบคลุมเลย อาหารก็แทบไม่ต้องซื้อ ผมได้เตรียมพื้นที่ใน จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิดไว้ และคิดว่าจะกลับไปทำการเกษตรในอนาคต แต่ทุกวันนี้ยังมีหน้าที่ในเมืองอยู่ก็ทำไปก่อน และใช้เวลาว่างช่วงวันหยุด ศึกษาหาความรู้ สร้างประสบการณ์ เพราะการปลูกต้นไม้ต้องมีเพื่อน แลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้ ปรึกษาหารือกัน”

ในอนาคตหากจะผลักดันเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินเปล่า แนวคิดการสร้างสวนผักในเมืองก็เป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง ทำให้คนเมืองรู้จักการสร้างอาหาร แบ่งปัน สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่อยากทดลองทำเกษตรแต่ยังไม่มีโอกาสในพื้นที่ของตัวเอง

hanging-garden-01-1-768x512

IMG_20180721_123445

สำหรับพื้นที่สวนผักที่โดดเด่นในปีนี้ มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป อาทิ โครงการสวนผักคนเมืองพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งโดดเด่นเรื่องการสร้างเครือข่ายสมาชิก ใช้วันหยุดเป็นช่วงจัดกิจกรรมอย่างที่ต่อเนื่อง สวนผักคนเมืองรังสิต คลอง 7 โดดเด่นเรื่องการสร้างผลผลิตด้วยฝีมือของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โมเดลที่สวนผักพหลโยธิน 53 โดดเด่นเรื่องการใช้พื้นที่กลางเมืองออกแบบและบริหารจัดการพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนใครยังหาพื้นที่ทดลองไม่ได้ ลองติดต่อได้ที่สวน FarmFriends ตรงพุทธมณฑลสาย 2 ที่ไลน์ไอดี: uncle_old

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ  : อ่านเพิ่มเติม : http://www.judprakai.com/life/605