“จตุพลชาไทย” ดันชาเชียงรายโกอินเตอร์-เล็งแตกไลน์กาแฟ

  •  
  •  
  •  
  •  

ชาดอยแม่สลองฮิตติดตลาด แบรนด์จตุพลชาไทยชูมาตรฐานจีไอ-ออร์แกนิก ส่งออกตีตลาดชาโลก อเมริกา-จีน-ไต้หวัน-ฝรั่งเศสรุมซื้อ เตรียมเดินเครื่องแตกไลน์ผลิตกาแฟอราบิก้าออกสู่ตลาด พร้อมเพาะพันธุ์กล้าแบ่งให้เกษตรกรปลูก

นายจตุพล ชีวินเฉลิมโชติ ผู้ก่อตั้งบริษัท จตุพลชาไทย (ดอยแม่สลอง) จำกัด จ.เชียงราย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเริ่มทำธุรกิจมาประมาณ 20 ปี โดยเริ่มแรกได้ตั้งบริษัท ไทยโชคจำเริญ จำกัด ขึ้น ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายชาทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ชาไทยมรกต และจตุพลชาไทย

แต่ปัจจุบันแยกมาบริหารจตุพลชาไทยเป็นหลัก และกำลังเตรียมแตกไลน์ทำผลิตภัณฑ์กาแฟอราบิก้า เนื่องจากตลาดทั้งในและต่างประเทศค่อนข้างใหญ่ ขณะนี้ได้ปลูกกาแฟเพิ่มอีกประมาณ 20,000 ต้น จากเดิมที่ปลูกแล้ว 3,000 ไร่ และเพาะพันธุ์กล้าแบ่งให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปปลูก โดยเมื่อผลผลิตออกจะรับซื้อกลับเช่นเดียวกับชา

ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ปลูกชาบนดอยแม่สลอง จ.เชียงราย ประมาณ 700-800 ไร่ โดยมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาคุมไร่เพื่อให้ได้มาตรฐาน รวมถึงยังรับซื้อชาสดจากเกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 10,000 ตัน/ปี หากเป็นชาทั่วไป รับซื้อราคากิโลกรัม (กก.) ละ 30 บาท ถ้าเป็นก้านอ่อนชาจะรับซื้อในราคา 100 บาท/กก. ก็มีการตัดราคาแย่งรับซื้อด้วย ซึ่งปัจจุบันบนดอยแม่สลองมีพื้นที่ปลูกชาทั้งหมดกว่า 3,000-4,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาสายพันธุ์อู่หลงที่นำเข้ามาจากไต้หวัน

ขณะนี้บริษัทมีผลิตภัณฑ์หลักๆ ประมาณ 10 ชนิด กำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000-5,000 กิโลกรัม/วัน ได้แก่ ชาจีนโบราณ ชาอู่หลง ชานางงาม ชาทิกวนอิม ชาดำอัสสัม ชาเขียวอัสสัม และชาขาว รวมถึงมีการแปรรูป เช่น ชาสมุนไพรโสมขาว ชาดอกหอมหมื่นลี้ และชาดอกกุหลาบมอญ โดยสินค้าที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ชาอู่หลงก้านอ่อน ชาอู่หลงสี่ฤดู และชาอู่หลงเบอร์ 12 โดยสามารถเก็บได้นาน 4-5 ปี หากเปิดถุงฟอยล์แล้ว รสชาติจะคงที่ 3 เดือน หลังจากนั้นรสชาติจะเปลี่ยนแปลงแต่สามารถบริโภคได้อยู่

โดยช่องทางการตลาดในประเทศจะเน้นการออกแสดงสินค้าตามงานแฟร์ต่าง ๆ และวางจำหน่ายที่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 60-65% ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนประมาณ 35-40% โดยส่งออกไปฝรั่งเศส เยอรมนี อเมริกา จีน และไต้หวัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจะเป็นชาอู่หลง ทั้งนี้มูลค่ารายได้ประมาณ 6-7 ล้านบาท/ปี โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อัตราการจำหน่ายและส่งออกลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อลดลง ซึ่งประสบสถานการณ์ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน การแข่งขันทางการตลาดค่อนข้างสูง โดยจีนถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านตลาดชาอยู่แล้ว แต่การส่งออกยังไม่มาก เนื่องจากมีสารตกค้างค่อนข้างมาก แต่จตุพลชาไทยนำจุดเด่นและความได้เปรียบเข้าไปแข่งขันด้านการตลาด คือ การปลูกแบบอินทรีย์ ออร์แกนิก ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indications : GI) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอียู (EU organic program) และอเมริกา เน้นคุณภาพ รวมถึงพื้นที่ปลูกและอากาศเอื้ออำนวยต่อคุณภาพและรสชาติ แต่ไทยยังขาดเรื่องของโนว์ฮาว ทำให้ปัจจุบันต้องจ้างชาวต่างชาติเข้ามาควบคุมไร่ชา การเก็บใบชา และกระบวนการผลิต

“จุดเด่นที่สุดคือ การเก็บใบชาออร์แกนิกในช่วงเช้า ซึ่งเก็บเฉพาะยอดอ่อน 3 ใบ โดยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่เกิน 30 นาที หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในการนำใบชาที่เก็บมาเข้าสู่กระบวนการผลิต เนื่องจากหากเก็บนานเกินไปทำให้ใบชาไม่สด และเมื่อมาถึงโรงงานจะนำมาผึ่ง แทนการตากแดด ทำให้มีหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา เข้ามาดูงานที่โรงงานจำนวนมาก”

 

ที่มา :  ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม :https://www.prachachat.net/local-economy/news-190657