ภาคอีสานของไทยถือเป็นแหล่งผลิตหม่อนไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่มีศักยภาพสูง ที่สำคัญยังมีภูมิปัญญาการผลิตผ้าทออีสานที่ทรงคุณค่า เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทางวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของชุมชน
ภาคอีสานของไทยถือเป็นแหล่งผลิตหม่อนไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่มีศักยภาพสูง ที่สำคัญยังมีภูมิปัญญาการผลิตผ้าทออีสานที่ทรงคุณค่า เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งแสดงถึงมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละพื้นถิ่น และวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่แตกต่าง กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านหม่อนไหม จึงได้จัดทำ “โครงการยกระดับผ้าทออีสานสู่สากล” ขึ้น โดยดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้ทอผ้าและผู้ผลิตเส้นใย รวมถึงนักออก แบบมืออาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาลวดลายผ้าร่วมสมัย พร้อมยกระดับศักยภาพภูมิ ปัญญาการทอผ้าไทยให้สูงขึ้น และต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาจากผ้าทอจากนวัตกรรมภูมิปัญญาสู่สากล เพื่อสร้างจุดเด่นผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานให้มีโอกาสแข่งขันได้ในตลาดสินค้าสิ่งทอโลก และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจ 4.0 ได้ด้วย
นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการยกระดับผ้าทออีสานสู่สากล ว่า ปี 2561 นี้ กรมหม่อนไหมได้มีแผนเร่งขับเคลื่อน “โครงการยกระดับผ้าทออีสานสู่สากล” มีเป้าหมายนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ สกลนคร อุดรธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ มุ่งสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มผู้ทอผ้า ผู้ผลิตเส้นใย กลุ่มคนรุ่นใหม่ และนักออกแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาการทอผ้าทออีสาน พร้อมสืบสานงานอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาหม่อนไหมให้คนรุ่นใหม่เกิดความหวงแหนในเอกลักษณ์และวิถีชีวิตหม่อนไหม เพื่อดำรงไว้ซึ่งการรักษาอย่างยั่งยืนด้วย
โครงการฯ ดังกล่าวมี 2 กิจกรรมหลัก คือ 1.พัฒนาการออกแบบลวดลายผ้าจากนวัตกรรมภูมิปัญญาสู่สากล และ2.พัฒนาและส่งเสริมผ้าไหมสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นสากล ในเบื้องต้นโครงการฯ ได้เร่งจัดประชุมกลุ่มเครือข่ายทั้งห่วงโซ่การผลิตผ้าไหม จังหวัดละ 100 คน เป้าหมายรวมกว่า 600 คน เพื่อสืบค้นนวัตกรรมภูมิ ปัญญาและเอกลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การออกแบบลวดลายผ้า จากนั้นจะมีการพัฒนาภูมิปัญญาร่วมกับนักออกแบบ/นักศึกษา และกลุ่มผู้ทอผ้าในพื้นที่ เพื่อออกแบบลวดลายผ้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ 120 แบบร่างลวดลาย แล้วคัดเลือกมาทอเป็นผืนผ้าต้นแบบ จังหวัดละไม่ต่ำกว่า 8 ลาย รวมทั้งหมด 48 ลาย และได้ชิ้นงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างน้อย 24 ชิ้นงาน คาดว่า จะทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ทอผ้ามีลวดลายผ้าที่หลากหลายเป็นต้นแบบทางเลือกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ชุดองค์ความรู้นวัตกรรมภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 6 ชุดองค์ความรู้ สามารถต่อยอดพัฒนาลวดลายผ้าไหมสู่ตลาดสากลได้
ขณะเดียวกันยังจะเกิดศูนย์จัดทำข้อมูลผ้าภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ทั้งยังมีการออกแบบและตัดเย็บผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากผ้าภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับความเป็นสากล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยให้มีความร่วมสมัย จังหวัดละ 2 คอลเลกชั่น (Collection) รวม 12 คอลเลกชั่น ๆ ละไม่ต่ำกว่า 10 ชุด รวมกว่า 120 ชุด พร้อมศึกษาตลาดผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากการพัฒนาออกแบบลวดลายผ้าจากนวัตกรรมภูมิปัญญานี้ด้วย โดยเฉพาะการศึกษาตลาดภายในประเทศ และสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อหาช่องทางตลาดและเตรียมความพร้อมในการแข่งขันสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต ตลอดจนประเมินศักยภาพการค้าไหมด้วย
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวอีกว่า ปี 2562 กรมหม่อนไหมได้มีแผนเร่งพัฒนาต่อยอดโครงการฯ โดยจะส่งเสริมและผลักดันกลุ่มผู้ทอผ้าใน 6 จังหวัด ให้ทอผ้าผืนยึดลวดลายผ้าจากนวัตกรรมใหม่ 48 ลายต้นแบบ เพื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมส่งเสริมการตรวจรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 100,000 เมตร ซึ่งการันตีคุณภาพว่า เป็นไหมแท้และสีไม่ตก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีแผนส่งเสริมด้านการตลาดเข้มข้นมากขึ้น เน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลักก่อน เช่น การประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) ร่วมจัดงานโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยในทุกภูมิภาค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและใช้ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น แล้วค่อยส่งเสริมขยายสู่ตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพกว่า 36 ประเทศในปีถัดไป อาทิ ตลาดอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เมียนมา และ สปป.ลาว รวมถึงตลาดญี่ปุ่น จีน และกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น
ที่มา : เดลินิวส์ :อ่านเพิ่มเติม :https://www.dailynews.co.th/agriculture/654900