กระทรวงเกษตรฯ เปิดโปรเจคยักษ์ เชิญทูตและผู้ประกอบการยางกว่า 70 คน จาก 20 ประเทศลงพื้นที่กระบี่ – ตรัง แหล่งผลิตยางสำคัญ ป้อนข้อมูลศักยภาพการผลิตและแปรรูปยางไทย เพื่อแสดงความเป็นผู้นำผู้ผลิตยางคุณภาพ หวังขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยเพิ่มขึ้น
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของนาย กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นให้ความสำคัญกับแนวทาง “ตลาดนำการผลิต” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตออกมานั้น ตรงตามความต้องการของตลาด มีตลาดรองรับเพื่อจำหน่าย สามารถสร้างอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด จึงได้สั่งการให้กำหนดจัดการประชุมโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายนนี้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก รวมทั้งเพื่อแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราโลก ตลอดจนสร้างความมั่นใจและประชาสัมพันธ์ถึงคุณภาพมาตรฐานและความหลากหลายของยางพาราไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จคาดว่าประเทศไทยจะได้ตลาดคู่ค้ายางพาราเพิ่มขึ้น และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำอีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย คณะทูตานุทูตที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย ผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้นำเข้ายางรายใหม่ เช่น เม็กซิโก อินเดีย และอิหร่าน เป็นต้น
[adrotate banner=”3″]
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลไทย และมาตรการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนายางพาราของไทย ทั้งด้านการผลิต การแปรรูปวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความหลากหลายของสินค้ายางพาราไทยให้นานาประเทศที่ร่วมงานครั้งนี้รับทราบแล้ว ยังมีกำหนดการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปยางทั้งระบบในพื้นที่ จ.ตรัง อาทิ การผลิตยางแผ่นรมควัน มาตรฐาน GMP ยางเกรดพรีเมี่ยม การผลิตภัณฑ์ยางอัดก้อน และการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยาง และที่สำคัญ ในวันที่ 30 มิ.ย. การยางแห่งประเทศไทยจะจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Bussiness Matching) ระหว่างสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยาง กับผู้ประกอบการยางต่างประเทศ อีกด้วย
“กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังการดำเนินการครั้งนี้ จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ ผู้นำเข้ารายใหม่ และผู้นำเข้ารายใหม่จากประเทศเดิม มากขึ้น ทั้งในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และที่สำคัญ คือ ความหลากหลายของยางพาราไทย ที่ไม่เพียงการผลิตในขั้นต้นเป็นเพียงน้ำยางดิบเท่านั้น แต่ไทยสามารถพัฒนาไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราตามความต้องการของตลาดได้ รวมถึงคณะทูตานุทูตที่ร่วมงานครั้งนี้จะช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ยางพาราไทยให้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศอีกทางหนึ่งดัวย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายช่องทางการค้าสินค้ายางพาราไทย และส่งผลต่อราคายางพาราในประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทางหนี่ง” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว