เยี่ยมมาก!นำร่องแล้ว 3 จังหวัดนำสับปะรดทำอาหารสัตว์

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ เริ่มแปรรูปผลสับปะรดสดทำเป็นอาหารสัตว์แล้ว  นำร่องก่อน 3 จังหวัด “ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และลำปาง” ใช้เฉพาะที่ตกเกรดกว่า 2.3 แสนตัน หวังแก้ไขปัญหาสับปะรดล้นตลาด ชื้สามารถลดต้นทุนค่าอาหารให้โคนมได้ 0.20 บาทต่อน้ำนม 1 กก.

        นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดงาน “โครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด” ณ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คอ่าวน้อย จำกัด ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินโครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำผลสับปะรดสดมาแปรรูปเป็นอาหารทีเอ็มอาร์ โปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ สำหรับใช้เลี้ยงโคนม

         เนื่องจากมีผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จำนวน 2.24 ล้านตัน แต่ความต้องการสับปะรดเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออก มีปริมาณไม่เกิน 2 ล้านตัน จึงเกิดปัญหาสับปะรดล้นตลาด ทำให้ราคาสับปะรดตกต่ำ นอกจากนี้ ยังมีสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีขนาดผลเล็ก โรงงานสับปะรดไม่รับซื้อ อีกจำนวน 0.23 ล้านตัน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และลำปาง ซึ่งการนำสับปะรดมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

         นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯได้นำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดข้างต้น โดยการนำสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงานมาผลิตเป็นอาหารสัตว์  จำนวน 238,648 ตัน หรือร้อยละ 20  คาดว่าจะสามารถช่วยนำมาผลิตอาหารสัตว์ได้ประมาณ 20 % หรือ 47,729 ตัน โดยให้สหกรณ์โคนมในพื้นที่รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อผลิตอาหารทีเอ็มอาร์และจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ

[adrotate banner=”3″]

         ทั้งนี้ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากงบพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อนำมาผลิตอาหารทีเอ็มอาร์ จำนวน 1,000 ตัน (โครงการนำร่องฯ) โดยใช้ผลสับปะรดสด 710 ตัน ฟางข้าว 140 ตัน กากถั่วเหลือง 66.50 ตัน กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน 80 ตัน และปุ๋ยยูเรีย 3.50 ตัน จำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคากิโลกรัมละ 3.90 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง) ใช้เลี้ยงโคนมได้จำนวน 500 ตัว ในระยะเวลา 60 วัน ได้ผลผลิตน้ำนมดิบ จำนวน 500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9 ล้านบาท ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้ เมื่อหักเงินกู้แล้วคิดเป็นมูลค่า 5 ล้านบาท

           “การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ได้ช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรด อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาสับปะรด จะต้องมีมาตรการแนวทางการบริหารจัดการสับปะรด ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูป ซึ่งต้องอาศัยการสร้างกลไกเชื่อมโยงการตลาดในทุกภาคส่วน อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสับปะรดที่ได้คุณภาพ และการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาสับปะรดได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายลักษณ์ กล่าว

         ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรด้วยสับปะรดกับฟางข้าวเสริมอาหารข้นนั้น จะมีต้นทุนค่าอาหารตัวละ 102.50 บาท ให้น้ำนมวันละ 12 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนค่าอาหาร 8.54 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม ถ้าเลี้ยงด้วยอาหารทีเอ็มอาร์ที่มีสับปะรดกับฟางข้าว จะมีต้นทุนตัวละ 117 บาท ให้น้ำนมวันละ 14 กิโลกรัม มีต้นทุนค่าอาหาร 8.35 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม จะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ 0.20 บาทต่อน้ำนม 1 กิโลกรัม