ค้าภายในผนึก ม.หอการค้าฯ จับคู่ธุรกิจข้ามแดน “ไทย-สปป.ลาว”  

ค้าภายในผนึก ม.หอการค้าฯ จับคู่ธุรกิจข้ามแดน “ไทย-สปป.ลาว”  

  •  
  •  
  •  
  •  

การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ด้วยการเปลี่ยนจุดอ่อนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (land lock) โดยการเปิดประตูเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค (land link) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทาง One Belt One Road สู่ประเทศจีน ทำให้ประเทศเล็ก ๆ อย่าง สปป.ลาวได้กลายเป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่ง

ล่าสุด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัด กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (business matching)เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตร ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรโดยมีการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความต้องการสินค้าเกษตร ณ ตลาด สปป.ลาวเมื่อเร็ว ๆ นี้

“สุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน” รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประธานเปิดงานจับคู่เจรจาธุรกิจ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อแก้ปัญหาการระบายผลไม้ออกไปสู่ตลาดอื่น นอกจากตลาดประเทศจีน โดยครั้งแรกเป็นการเปิดตลาดไปยังประเทศอินเดียเพื่อขายผลไม้ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการจากประเทศอินเดียมารับซื้อผลผลิตจากชาวสวนโดยตรง ก่อนจะมาถึงครั้งที่ 2 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน

“ตลาดเพื่อนบ้านเราสนใจสินค้าไทย ทั้งผลไม้สดและผลไม้แปรรูป นครหลวงเวียงจันทน์เองมีห้างขนาดใหญ่ที่สนใจในสินค้าจากประเทศไทย การจับคู่ธุรกิจเปิดตลาดในประเทศลาวครั้งนี้ มั่นใจได้ว่าคนลาวจะได้รับสินค้าคุณภาพทัดเทียมกับคนไทย ผู้ประกอบการเองมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่กรมการค้าภายในและทางมหาวิทยาลัยหอการค้าฯเป็นสื่อกลางให้สามารถเปิดตลาดได้โดยตรง ทำให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมาพบกัน คาดว่าจะทำให้การค้าขายระหว่างสองประเทศเกิดความยั่งยืนต่อไป”

“สมบัติ สิริพรวิทยา” กรรมการผู้จัดการ ธาตุหลวงพลาซ่า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว บอกว่า สินค้าที่จะเข้ามาผ่านการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ รองอธิบดีกรมการค้าภายในบอกว่าเป็นสินค้าที่คัดเกรดมาแล้ว สามารถนำไปตั้งขายภายในธาตุหลวงพลาซ่าได้ทันที แต่มีรายละเอียดที่ต้องมาเจรจากัน สิ่งสำคัญประเทศลาวเพิ่งเปิดประเทศ ประสบการณ์ในเรื่องการบริหารจัดการต้องพึ่งพาประเทศที่เจริญกว่า เช่นประเทศไทยที่อยู่ใกล้ชิดกัน ทั้งความสัมพันธ์คล้ายคลึงกัน

ประเทศไทยสามารถเข้ามาช่วยเป็นพันธมิตรในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจได้ดี และในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านจากจีนเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ลาวคือประตูด่านหน้าที่คนจีนใช้เป็นเส้นทางผ่านมาพร้อมกับเงินที่เข้ามา จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยให้หันกลับมามอง สปป.ลาว และสินค้าไทยปัจจุบันได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

“ยุคนี้เป็นยุคที่เราต้องวิ่งหาลูกค้าเพราะว่าการแข่งขันสูง ใครเข้าถึงลูกค้าได้คนนั้นคือเจ้าตลาด ผมมองว่า”ธาตุหลวงพลาซ่า” จะเป็นห้างสรรพสินค้าเบอร์ 1 ใน สปป.ลาวในอนาคต ด้วยทำเลที่เหมาะสม สินค้าครบถ้วน การบริการที่ดี และมีราคาที่พอเหมาะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ชัดเจน เพราะการทำห้างสรรพสินค้าไม่ได้หมายความว่าคุณต้องสร้างห้างใหญ่ ๆแต่สร้างแล้วต้องมีคุณภาพ และธาตุหลวงพลาซ่าเองก็พร้อมรองรับทั้งอาคารศูนย์การค้าและออฟฟิศ”

อย่างไรก็ตาม “พรมณี มิ่งขวัญ” ผู้ประกอบการรายย่อยในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ให้ความเห็นว่า โครงการจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ถือเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ข้อเสียอยู่ที่การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าและผลผลิตที่เข้ามาใน สปป.ลาวทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ค่อนข้างยาก หากผู้ประกอบการต้องการค้าขายต้องไปลงทะเบียนเพื่อเสียภาษี อีกทั้งกฎหมายยังคลุมเครืออยู่ ทั้งเศรษฐกิจใน สปป.ลาวชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในสายตาของคนลาว สินค้าที่มาจากประเทศไทยถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม เพราะมีคุณภาพดี แต่ลาวจะนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีนและเวียดนามด้วยเพื่อแข่งกับสินค้าไทย โดยการขายในราคาที่ถูกกว่า ขณะเดียวกันต้นทุนของคนลาวส่วนใหญ่จะน้อย เนื่องจากรายรับน้อยทำให้ชาวบ้านทั่วไปสนใจซื้อของจากจีนและเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ อาหารทะเล ของแห้ง และของใช้ในครัวเรือน

“สินค้าไทยจะมีราคาแพงกว่าและจะขายดีในกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งในภาพรวมสู้ของถูกไม่ได้ แม้ว่าบางครั้งคนลาวจะข้ามไปซื้อสินค้าจากจังหวัดหนองคายผ่านด่านชายแดนเข้ามาบ้าง แต่หากไม่มีความร่วมมือของภาครัฐไม่มีการจับคู่ธุรกิจนี้อยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี”

และถึงแม้ว่าการจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้จะยังไม่มีมุมมองรายละเอียดที่ชัดเจน แต่เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยมีช่องทางในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ