GMทุ่ม 600 ล้านผุดรง.ฮาลาล เล็งทำเล “ฉะเชิงเทรา” รับฐานลูกค้าสายการบิน

  •  
  •  
  •  
  •  

TGM เตรียมทุ่ม 600 ล้าน ตั้งโรงงานแปรรูปแห่งที่ 3 ในฉะเชิงเทรา เน้นผลิตสินค้ามาตรฐาน “ฮาลาล” เคร่งครัด รับฐานลูกค้าเก่า-ใหม่สายการบินต่างชาติ-โรงแรม-ร้านอาหารทั่วโลก คาดปี 2563 วางตลาด เผยกำลังเร่งทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า “พรีเมี่ยมฮาลาล” ประเภท “เบค่อน-ไส้กรอก-แฮม” จากเนื้อไก่ วัว แพะ

นายวัฒนา พัวพัฒนาขจร รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเนื้อสัตว์ ภายใต้แบรนด์ ที.จี.เอ็ม. (TGM) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนจะก่อตั้งโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์แห่งที่ 3 เพื่อผลิตสินค้าประเภทฮาลาลขึ้นมาโดยเฉพาะ มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) กำลังผลิตประมาณ 30-40 ตัน/วัน ส่งออกไปขายทั่วโลก และขายให้สายการบินต่างชาติที่บินมาลงที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมของบริษัทที่เรียกร้องให้ผลิตสินค้าฮาลาล ประมาณ 60-70% รวมถึงลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านแสดงความต้องการสินค้าฮาลาล เนื่องจากสะดวกในการบริหารจัดการเรื่องอาหารที่ให้บริการลูกค้าบนเครื่องบิน ในโรงแรม และร้านอาหารต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะชาวมุสลิมที่บริโภคได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียม เพื่อยื่นขออนุญาตตรารับรองสินค้าฮาลาล ซึ่งผู้ผลิตต้องได้มาตรฐานฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ควบคู่กันไปกับการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งยังคงยึดพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราเป็นหลัก แต่หากที่ดินมีราคาสูงมากคงจะมองหาที่ดินใน จ.ชลบุรี และระยองต่อไป ทั้งนี้ ตามแผนคาดว่าโรงงานแห่งใหม่จะแล้วเสร็จและสามารถเดินหน้าผลิตได้ในปี 2563

“เรามองถึงอนาคตว่าตลาดสินค้าประเภทฮาลาลถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ เห็นได้จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มีประชากรรวมกันประมาณ 300 ล้านคน

ในจำนวนนี้มีชาวมุสลิมอยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่ประเทศจีนมีชาวมุสลิม 200-300 ล้านคน รวมถึงประเทศในแถบตะวันออกกลางที่มีประชากรอีก 2,000-3,000 ล้านคน ทำให้เราเห็นโอกาสของตลาดนี้ ที่สำคัญการผลิตสินค้าฮาลาลไม่จำเป็นต้องขายแค่ชาวมุสลิม แต่สามารถบริโภคได้หมด ตอนนี้สายการบินต่างชาติที่บินมาลงที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทอยู่แล้วเรียกร้องให้ผลิตสินค้าฮาลาล เนื่องจากบริหารจัดการง่าย สินค้าฮาลาลสามารถใช้ในสายการบินได้โดยไม่ต้องตอบคำถามเยอะ และบริโภคได้หลากหลาย ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์อยู่ 2 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา มีการผลิตสินค้าฮาลาลอยู่แล้ว เช่น แฮมไก่ แต่ผลิตในโรงงานเดียวกับโรงงานที่แปรรูปหมู ไม่ได้แยกการผลิตออกมา จึงไม่ได้รับมาตรฐานสินค้าฮาลาล บริษัทจึงมีแผนตั้งโรงงานผลิตสินค้าฮาลาลแยกออกมาอย่างชัดเจน วัตถุดิบที่ใช้ต้องมาจากโรงงานเชือดไก่ที่ใช้คนมุสลิมเป็นคนเชือด แม้แต่คนคุมเครื่องจักรต้องมีอัตราส่วนเป็นคนมุสลิม เป็นต้น ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาสินค้าที่เน้นหนักใช้วัตถุดิบเนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแพะ ทำผลิตภัณฑ์ไส้กรอกไก่ ไส้กรอกเนื้อ ไส้กรอกแพะ ฯลฯ

นายวัฒนากล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีโรงงานผลิตไส้กรอกไก่ที่ได้มาตรฐานฮาลาลอยู่หลายแบรนด์แล้ว แต่ส่วนมากเป็นสินค้าที่ผลิตจำนวนมากเพื่อขายตลาดทั่วไปเป็นสินค้าแมส แต่ไม่มีสินค้าพรีเมี่ยม ซึ่งบริษัทจะไม่ทำสินค้าแมสฮาลาล แต่จะผลิตสินค้าพรีเมี่ยมฮาลาล ซึ่งใช้ส่วนผสมเครื่องปรุงสั่งนำเข้าตรงจากเยอรมนีรสชาติไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของไทย-เยอรมันมากนัก แต่อาจจะมีผลิตภัณฑ์ เช่น ไก่ผสมเนื้อ เนื้ออย่างเดียว เป็นต้น โดยจะเริ่มผลิตจากสินค้าตัวหลักก่อน เช่น เบคอนไก่ ไส้กรอกไก่ แฮมไก่ โบโลน่าไก่ ถือเป็นสินค้าพรีเมี่ยมเกาะตลาดบน อย่างที่ขายอยู่เกือบทุกห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ยกเว้นห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อที่มีโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เอง

สำหรับโรงงานทั้ง 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยโรงงานแห่งแรกเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 กำลังการผลิต 20 ตัน/วัน ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท บนเนื้อที่กว่า 12 ไร่ เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ผลิตสินค้าประเภทไส้กรอก หมูแฮม ซาลามี่ และแอร์ดราย หรือเนื้อสัตว์ตากแห้ง เพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นได้ ปัจจุบันโรงงานแห่งที่ 2 ใช้กำลังการผลิตเพียง 50% หากผลิตเต็มประสิทธิภาพจะได้ราว 50 ตัน/วัน

ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมู และไก่จะมาจากเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 25-30 ตัน/วัน ที่เหลือมาจาก จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ โดยบริษัทใช้เฉพาะชิ้นส่วนขาหน้า ขาหลัง สามชั้นทำเบคอน สะโพกหน้า และสะโพกหลัง ไม่ได้ซื้อซากใช้ทุกส่วน ขณะที่เครื่องเทศและส่วนผสมอื่น ๆ เป็นการนำเข้าจากเยอรมนีเพื่อรักษาคุณภาพ โดยเน้นสโลแกนต้นตำรับจากเยอรมนี

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม  : https://www.prachachat.net/local-economy/news-167644