คนเลี้ยงหมูร้องรัฐบาลไทยให้ปกป้องเกษตรกรเหมือน”ทรัมป์”

  •  
  •  
  •  
  •  
          อุตสาหกรรมหมูไทยต้องหวั่นใจอีกครา เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา 44 ราย ทั้ง Republican และ Democrat นำโดย David Young จากไอโอว่า และ Ron Kind จากวิสคอนซิน ได้ลงลายมือชื่อในจดหมายถึง นายวีระชัย พลาศัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ รวมทั้งเนื้อหมูสหรัฐฯ ด้วย แลกกับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของสหรัฐ (GSP) ที่เป็นสิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าไทยกว่า 1,000 รายการ ในจดหมายถึงเอกอัครราชทูตไทย ระบุอย่างชัดเจนว่า “หากไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ คาดว่าสหรัฐฯจะพิจารณาว่า สมควรที่จะระงับสิทธิประโยชน์ GSP ของไทยบางส่วนหรือไม่” 
          เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เห็นพ้องกับคำร้องขอจากสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติ (NPPC) ของสหรัฐฯ เพื่อให้ตรวจสอบการมีสิทธิ์ใน GSP ของประเทศไทย เนื่องจากความไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเรื่องเนื้อหมูที่สหรัฐฯพยายามผลักกันการส่งออกเข้าประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2556 รวมอยู่ด้วย โดยประธาน NPPC , Jim Heimerl เรียกร้องให้รัฐบาลทรัมพ์ “ถอนหรือจำกัด” ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับภายใต้โปรแกรมการค้าพิเศษที่ให้การปลอดภาษีแก่สินค้าบางอย่างที่เข้ามาในสหรัฐฯ เพราะต้องการให้รัฐบาลไทยขจัดข้อจำกัดของเนื้อหมูของสหรัฐฯ เพื่อเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในให้แก่สหรัฐฯ อย่างเป็นธรรมและสมเหตุผล ซึ่งจะทำให้เนื้อหมูสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างเต็มที่ 
          หากแต่ประเทศไทยยังคงยืนยันที่จะคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง Ractopamine ในการเลี้ยงหมูได้อย่างเสรี แม้ว่าสารตัวนี้จะไปช่วยลดไขมัน เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตในหมู แต่สารนี้กลับมีผลกระทบต่อตัวหมูและมนุษย์ โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้เกินขนาด จะทำให้หมูอยู่ในสภาพถูกทรมาน ผิดหลักการเลี้ยงสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม เพราะสารเร่งเนื้อแดงมีฤทธิ์กระตุ้นทั้งสมองและระบบไหลเวียนโลหิต เมื่อสารนี้ตกค้างในเนื้อสัตว์แล้วมนุษย์บริโภคเข้าไป จะได้รับสารที่เป็นอันตรายร้ายแรง ยิ่งในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคเบาหวาน และในเด็ก 
         ที่สำคัญสารเร่งเนื้อแดงยังเป็นสารเคมีภัณฑ์ต้องห้ามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ไม่ให้ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามประกาศกระทรวงฯ เรื่องกําหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นําเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ คุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ ที่ห้ามใช้เป็นสวนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 รวมทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ หรือสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งกำหนดให้ต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ในอาหาร 
          ทั้งสองประเด็นนี้ทำให้รัฐบาลไทยไม่เปิดรับเนื้อหมูมีสารเร่งเนื้อแดงเข้ามาขายในประเทศ โดยยกเหตุผลว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าสารนี้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคในระยะยาว 
         นายวีระ ป้อมสุวรรณ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคกลางตอนบนเพื่อการค้า บอกว่า ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูและเกษตรกรผู้เลี้ยง ต่างร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยเห็นถึงผลกระทบของสารเร่งเนื้อแดงที่มีต่อสัตว์เลี้ยง และสุขภาพของคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารนี้ตกค้าง ควบคู่ไปกับการปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี เพื่อไม่ให้สารนี้ก่อโทษภัยต่อคนไทย เป็นการสร้างความปลอดภัยในอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต 
         ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการนำเข้าเนื้อหมูของสหรัฐเข้าสู่ประเทศไทยนั้น แม้จะดูเหมือนเป็นหนทางทางการค้าของประเทศผู้ผลิตหมูอันดับหนึ่งของโลกที่ทำเช่นนี้กับทุกประเทศก็ตาม แต่หากมองให้ลึกแล้วจะเห็นว่านี่เป็นเพียง “การหาช่องทาง” ในการ “ทิ้ง” เศษเหลือหรือ “ขยะ” ทั้งหัว ขา และเครื่องใน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหมูที่คนมะกันไม่กิน ดังนั้นการผลักดันขยะสู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะในโซนเอเชียที่นิยมบริโภคชิ้นส่วนเหล่านี้อยู่แล้ว ก็ถือเป็นทางออกที่ดีของสหรัฐฯ โดยมองข้ามความปลอดภัยของอาหารซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิ์อย่างเต็มที่ที่จะต้องได้รับความคุ้มครองในเรื่องนี้ 

[adrotate banner=”3″]

         หากไทยยอมให้หมูสหรัฐที่มีต้นทุนต่ำกว่า และมีความสามารถทางการตลาดที่แข็งแกร่งกว่ามาขายในไทยอีก แล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ทั้ง 195,000 ราย ซึ่งเลี้ยงหมูได้ 20 ล้านตัวต่อปี จะอยู่ได้อย่างไร คงต้องล้มหายตายจากไปกันหมด นี่ยังไม่นับผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ อย่างเช่นผู้ปลูกข้าวโพดที่ช่วยพยุงราคาให้กับรัฐอยู่ รวมถึงภาคอาหารสัตว์ ตลอดจนเวชภัณฑ์สัตว์ไทย รวมกันกว่า 2 แสนราย ที่ทั้งหมดในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ต่างเชื่อมโยงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ย่อมได้รับผลจากเรื่องนี้อย่างแน่นอน 
         วันนี้สหรัฐฯอ้างว่าต้องปกป้องประเทศ ปกป้องเกษตรกรของเขาอย่างเต็มที่ ด้วยการยกเอาสิทธิประโยชน์ GSP มาขู่ไทย เพื่อแลกกับการให้ไทยยอมนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯกลับไม่ยอมให้เนื้อหมูและเนื้อไก่ไทยเข้าไปทำตลาดในประเทศเขาได้ ซึ่งนับเป็นการกีดกันการค้าอีกรูปแบบ ดังนั้นในเมื่อสินค้าเราเข้าไปขายบ้านเขาไม่ได้ แล้วทำไมเราจะต้องยอมให้สินค้าของเขามาทำร้ายคนไทยและเกษตรกรไทย 

          คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศยืนยันหนักแน่นว่า “ไทยไม่สมควรรับเนื้อหมูมะกันเข้าประเทศด้วยประการทั้งปวง” และขอให้รัฐบาลไทยยืนหยัดเคียงข้างและสู้ไปพร้อมกับเกษตรกร ให้เหมือนกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์ดูแลเกษตรกรสหรัฐฯ และรัฐบาลไทยก็ต้องยึดมั่นอุดมการณ์ในการปกป้องความปลอดภัยในอาหารให้ผู้บริโภค และต้องไม่ยอมให้ชาติไหนมาย่ำยีคนไทยได้อย่างเด็ดขาด

ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ