“การเกษตรยุคดิจิตอลรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก” โดย..ศุภชัย เจียรวนนท์

  •  
  •  
  •  
  •  

“การเกษตรยุคดิจิตอลรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก”

โดย..ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

        และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

 

          “ทิศทางการเกษตรของไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง (Transformation) ตามการขับเคลื่อนของโลกยุคดิจิตอล  และปรากฏการณ์น่าสนใจซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรไทยมี 9 ด้าน”

             อนาคตของภาคเกษตรมีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย  และในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ก้าวสู่ยุคดิจิตอล หรือ 4.0 เทคโนโลยีที่เป็น Mega Trend อันได้แก่ Biotech NanoTech Space Tech Robotic และ Digital  ได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง (Disrupt)ไปทุกหย่อมหญ้า ถึงเวลาแห่งการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรของไทย

             ภาคเกษตร เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เป็นฐานหลักของประเทศ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาคท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม   แต่ระบบเกษตรของไทยยังอยู่ในยุค 1.0 – 1.5   เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีการบริหารจัดการ ไม่มีการตลาด ไม่มีทุน ไม่มีองค์ความรู้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์  (Commodities) เกษตรกรจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว  เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)  เราจะไม่สามารถก้าวหลุดจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ ถ้ายังไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร

[adrotate banner=”3″]

               ทิศทางการเกษตรของไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง (Transformation) ตามการขับเคลื่อนของโลกยุคดิจิตอล  และปรากฏการณ์น่าสนใจซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรไทยมี 9 ด้าน ได้แก่ 1.ดาวเทียมเพื่อการเกษตร หรือ Satellite for Agriculture  2. การวางแผนจัดการพื้นที่ หรือ Zoning, Geo Strategy 3.การบริหารจัดการน้ำโดยใช้นวัตกรรม  หรือ  Water Management and IoT 4.การพัฒนาเมล็ดพันธุ์และดิน หรือ Seed and Soil 5.การรับจ้างการทำเกษตรและเกษตรพันธสัญญา หรือ Services &  Smart Farming vs Contract Farming 6.การตรวจสอบย้อนกลับ และเครือข่ายการเก็บข้อมูล หรือ Traceability vs Blockchain 7.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปและสร้างแบรนด์ เพื่อขยายสู่ตลาดสุขภาพและความงาม หรือ Commodity to Process and Branded Food to Innovate in Health and Beauty 8. การทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหารในภูมิภาคนี้ หรือ R&D Agro and Food  as Regional and Health Technology และ 9.ความยั่งยืนและการใช้ที่ดิน หรือ Sustainability & Land Use

        ด้านแรก ดาวเทียมเพื่อการเกษตร (Satellite for Agriculture) เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง  ตอกย้ำให้รู้ว่าชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปแค่ไหน หลังจากมี  Google Map ค้นหาสถานที่ต่าง ๆ   ได้อย่างแม่นยำ ซึ่ง Google Map ก็คือระบบ Satellite หรือ ดาวเทียม นั่นเอง  ถ้าเราไม่นำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในระบบเกษตร ก็เท่ากับว่าเราไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ถ้านำดาวเทียมเข้ามาใช้ในระบบเกษตร การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะบอกได้ว่าที่ดินในพื้นที่นั้นเหมาะกับอะไร ปัจจุบันระบบดาวเทียมสามารถถ่ายรูปได้ชัดถึงเฉดสีที่ระบุได้ถึง แร่ธาตุ สภาพดิน และความพร้อมของดินแค่ไหน ในเวลาเดียวกันระบบดาวเทียมยังช่วยในการวางแผนเพาะปลูกที่แม่นยำรวมไปถึงการบริหารจัดการด้านการเก็บเกี่ยวและผลผลิต จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด และการอุดหนุนราคาจากภาครัฐ

         ต่อมาด้านที่ 2 เป็นเรื่อง การวางแผนจัดการพื้นที่ (Zoning, Geo Strategy vs Market ) เป็นอีกแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ภาคเกษตร การวางแผนจัดการพื้นที่หรือโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และความต้องการของตลาดจะทำให้ประเทศไทยมั่งคั่ง เกษตรกรร่ำรวย เช่น การวางโซนนิ่งปลูกมะพร้าว เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในเมืองจีน ซึ่งในชีวิตประจำวันนิยมดื่มน้ำมะพร้าวมากขึ้น แต่ในจีนไม่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว เป็นต้น

         ด้านที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นคือ การบริหารจัดการน้ำโดยใช้นวัตกรรม  (Water Management and IoT) เนื่องจากน้ำ หรือ ระบบชลประทาน ถือเป็นหัวใจในการพัฒนาภาคเกษตร เกษรกรไทยส่วนใหญ่ที่ยังยากจนก็เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่ดี หากสามารถนำนวัตกรรมการจัดการน้ำมาช่วยวางแผนการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น ปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู ร่วมกับสกน.พัฒนาอุปกรณ์วัดระดับน้ำ โดยใช้ IoT มีซิมโทรศัพท์ และพลังงานลม เพื่อสื่อสารให้รู้ถึงระดับน้ำในพื้นที่เกษตรต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

         ด้านที่ 4 เป็นเรื่องของ Seed and Soil หรือ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์และดิน การเกษตรจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีเมล็ดพันธุ์และดินที่ดีเหมาะกับการเพาะปลูก การเตรียมดินมีความสำคัญถือเป็นเกษตรอุตสาหกรรมในยุคใหม่ ถ้าไม่เตรียมดินให้เหมาะสม ผลผลิตก็จะไม่ได้ตามที่ต้องการ แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ปัจจุบันเราก้าวทันเทคโนโลยีในการปรับปรุงดินแล้ว โดยส่วนใหญ่จะทำในไร่นาหรือฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่เรียกว่า  Mega farming  แต่ในเมืองไทยขนาดของไร่นาเป็นแปลงเล็ก หากต่างคนต่างทำจะมีต้นทุนสูงมาก  ถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาจัดการเพื่อช่วยเกษตรกรไทย

              ด้านที่ 5 การรับจ้างการทำเกษตรกับการทำการเกษตรพันธสัญญา (Services &  Smart Farming vs Contract Farming) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก แนวโน้มการเกษตรยุคใหม่จะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ หรือ Mega Farming ในต่างประเทศถ้าเป็นแถบยุโรปจะทำเกษตรรูปแบบ “สหกรณ์” (Co-Op) โดยความสำเร็จเกิดขึ้นจาก Entrepreneur Spirit ของผู้นำสหกรณ์ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ส่วนในสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จจาก”เกษตรพันธสัญญา” (Contract Farming) และ Mega farm เพราะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี การตลาด และการบริหารจัดการ จำนวนเกษตรกรลดลงโดยถูกดูดซับไปยังอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการบริการ ทำให้ไม่เกิดปัญหาสังคมเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศขนาดใหญ่

            แต่สำหรับประเทศไทย การพัฒนาภาคเกษตรให้ก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยนำระบบสหกรณ์ และ/หรือเกษตรพันธสัญญามาใช้อาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะระบบเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดเล็ก การอพยพหรือย้ายแรงงานภาคเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือ การบริการอาจไม่สามารถรองรับได้อย่างพอเพียง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดใหม่โดยนำระบบ Social enterprise หรือ วิสาหกิจชุมชน เข้ามาเป็นโมเดลที่ให้เกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้น สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า  Service Farming หรือ Smart Farming ขึ้นมาทดแทน สามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับเกษตรกร และยังสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็น Start up อีกด้วย

           ด้านที่ 6 คือ การตรวจสอบย้อนกลับ และเครือข่ายการเก็บข้อมูล (Traceability vs Blockchain) สำหรับภาคการเกษตรนั้นสามารถกล่าวได้ว่า การตรวจสอบย้อนกลับ เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากในยุค 4.0 ที่กล่าวกันว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนโลก ปัญหาของภาคเกษตรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหลายเรื่องเกิดจากการขาดเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ เช่น ปัญหาประมงไทย เป็นต้น ต่อไปก็จะเกิดเวิทยาการใหม่ที่เรียกว่า Blockchain หรือ เครือข่ายการเก็บข้อมูล จะมีการส่งต่อข้อมูลแบบใหม่ รู้ได้ถึงที่มาที่ไป สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาอาหารและสร้างความโปร่งใสในการผลิต ที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อาหาร เป็นไปตามภายใต้หลักการสากล เพื่อได้สินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ด้านที่ 7 การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ด้วยการแปรรูป การสร้างแบรนด์อาหารและการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อเจาะตลาดสุขภาพและความงาม (Commodity to Process and Branded Food to Innovate in Health and Beauty) สินค้าเกษตรของไทยนั้นเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพ แต่ยังขาดเรื่องการเพิ่มมูลค่า การสร้างแบรนด์และการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรไทยซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพสินค้าเกษตรไทยให้ไปไกลถึงระดับโลก ทั้งนี้มหาวิทยาลัยซึ่งมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและภาคเอกชนซึ่งมีความสามารถทางการตลาดและการสร้างแบรนด์ควรร่วมมือกันเพื่อเสริมศักยภาพให้กับสินค้าเกษตของไทย

          ด้านที่ 8 คือ การวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร (R&D Agro and Food  as Regional and Health Technology) ประเทศไทยจะก้าวไกลจะเป็นแผ่นดินทองด้านเกษตรในยุค 4.0 ได้จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนา จะต้องดึงคนเก่ง(Talent)ระดับโลก เชิญนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกด้านไบโอเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเกษตรและอาหารเข้ามาในเมืองไทย เพื่อช่วยในการ Transform ด้านการเกษตรของประเทศไทยให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และที่สำคัญต้องทำให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรและอาหารในภูมิภาคให้ได้

          สุดท้าย คือ ด้านที่ 9 เรื่องความยั่งยืนและการใช้ที่ดิน (Sustainability & Land Use) โลกในยุคใหม่ที่เรียกว่า 4.0 ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในเรื่องความยั่งยืน ทุกคนต้องการเห็นความยั่งยืน นี่คือมุมมองของโลก องค์กรระดับโลก คนเก่งระดับโลก ทุกคนต่างตระหนักถึงความยั่งยืน องค์กรมีกำไร แต่ไม่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืน ก็จะไม่ยั่งยืนในที่สุด ดังนั้นในการพัฒนาภาคเกษตรไทยจะต้องยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับทุกภาคส่วน รักษาสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกใบนี้อยู่ได้อย่างมีความสุข

          ทั้งหมดนี้คือทางรอดของภาคเกษตรไทย ที่เนื้อหาจากการบรรยายพิเศษของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในหัวข้อ  New Technology of Agro Industry to Serve Global Demands  หลักสูตร BRAIN รุ่นที่ 2  จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561 ณ โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์