สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ หมูแนวโน้มราคาดีขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  

                       สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์
                                            วันที่  23 – 27  เมษายน 2561

ข้าวโพด : ราคาทรงตัว
         สัปดาห์นี้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงยืนตัวในเกณฑ์สูง โดยข้าวโพด ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์สัปดาห์นี้ยืนราคาเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่หาบละ  642 บาท  เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิต  
ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 26 เมษายน 2561 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 386.00 เซนต์/บุชเชล ราคาแกว่งตัวในเกณฑ์สูงขึ้น เป็นผลจากราคาข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพาะปลูกข้าวโพดของสหรัฐอเมริกาที่ล่าช้า  ทำให้คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกอาจน้อยกว่าความคาดหมาย  แนวโน้มราคาจึงยืนแข็ง แต่ต้องติดตามภาวะการส่งออกในสัปดาห์หน้าว่าจะดีขึ้นหรือไม่ รวมทั้งสภาพอากาศว่าจะเอื้ออำนวยให้การเพาะปลูกข้าวโพดได้เร็วขึ้นเพียงใด
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง

ถั่วเหลือง  : ราคาทรงตัว


          ความต้องการใช้ถั่วเหลืองสัปดาห์นี้สมดุลกับผลผลิตถั่วเหลืองที่มีในท้องตลาด เป็นผลให้ราคากากถั่วเหลืองได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 15.75 บาท  
ส่วนราคาซื้อขายกากถั่วเหลืองในตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 26 เมษายน 2561 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 379.20 เหรียญสหรัฐฯ/ชอร์ตตัน เป็นราคาที่ขยับขึ้นตามราคาข้าวโพด ประกอบกับอาร์เจนตินาประสบปัญหาผลผลิตได้รับกระทบจากภาวะแล้ง  สำหรับถั่วเหลืองรอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 1,028 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่อ่อนตัวลง เนื่องจากหากพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลง เกษตรกรสหรัฐฯอาจเปลี่ยนมาปลูกถั่วเหลือง ซึ่งใช้เวลาเพาะปลูกที่สั้นกว่าแทน    
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองน่าจะยืนอ่อน

[adrotate banner=”3″]

ปลาป่น : ราคาอ่อนตัว
          สถานการณ์ปลาป่นโดยรวมสัปดาห์นี้ราคาอ่อนตัวลง โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ลดลงจากกิโลกรัมละ 52.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 48.50 บาท ด้านปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ลดลงจากกิโลกรัมละ 49.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 45.20 บาท และเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน อ่อนตัวจากกิโลกรัมละ 46.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 42.70 บาท
          ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 49.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 45.20 บาท และปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 45.70 บาท  เป็นกิโลกรัมละ 41.70 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะยืนอ่อน

ข้าว : ราคาเพิ่มขึ้น


         สัปดาห์นี้ตลาดต่างประเทศมีการซื้อขายข้าวคึกคัก ส่งผลให้ราคาข้าวโดยรวมเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาขึ้นจากตันละ 479 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 485 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี.จากเพิ่มขึ้นจากตันละ 382 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 394 เหรียญสหรัฐฯ
        สำหรับการซื้อขายข้าวตลาดในประเทศ ข้าว 100% ชั้น 2 สัปดาห์นี้ ปรับขึ้นจากกระสอบละ 1,350 บาท เป็นกระสอบละ 1,380 บาท ด้านปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 1,050 บาท เป็นกระสอบละ 1,100 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวในประเทศน่าจะทรงตัว

สุกร : ราคาแข็งตัว


        เนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรแบกรับภาระขาดทุนมาตั้งแต่กลางปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นในการประชุมของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา จึงมีมติปรับราคาขึ้นให้ใกล้เคียงกับต้นทุนที่แท้จริง โดยราคาประกาศล่าสุดของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ อยู่ที่ 63–68 บาทต่อกิโลกรัม ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาทรงตัวอยู่ที่ตัวละ 1,800 บาท (บวกลบ 61)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะแข็งตัว

ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
         การที่เกษตรกรนำลูกไก่เข้าเลี้ยงน้อยลงมาตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ไก่ใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดมีน้อยลง และไม่มีไก่ใหญ่ตกค้างในฟาร์ม โดยทางภาคอีสานยังประสบกับพายุฝนฟ้าคะนอง  ขณะที่ผู้เลี้ยงทางภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้ยังมีการนำลูกไก่เข้าเลี้ยงมากขึ้น ด้านการบริโภคเนื้อไก่ในสัปดาห์นี้ยังทรงตัว ส่งผลให้ประกาศราคาขายไก่เนื้อหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อในสัปดาห์นี้เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 32 บาท

ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาอ่อนตัวลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากตัวละ 10.50 บาท เป็นตัวละ 8.50 บาท ส่วนลูกไก่ไข่ราคาทรงตัวที่ตัวละ 14.00 บาท  
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อจะยืนแข็ง

ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว


         สภาวะอากาศค่อนข้างร้อนตลอดสัปดาห์นี้ ส่งผลให้แม่ไก่ให้ผลผลิตไข่ลดลง อย่างไรก็ตามปริมาณไข่ไก่ยังคงสมดุลกับการบริโภค เป็นผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจากการสำรวจทั่วไปในท้องตลาดทรงตัวที่ฟองละ 2.60 บาท  
ทางด้าน นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หากปริมาณผลผลิตไข่ไก่มีเกินความต้องการมาก จะผลักดันให้มีการส่งออกต่างประเทศเพื่อให้ปริมาณไข่ไก่ในประเทศสมดุล ด้วยการส่งออกประมาณ 20 ล้านฟองต่อเดือน  
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่จะเพิ่มขึ้น

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF