ชี้เกษตรยุคใหม่ “ลาดนำการผลิต” เชื่อมรัฐ-เอกชน

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ปฎิรูปภาคเกษตร สนองนโยบายรัฐบาล ใช้ “การตลาดนำการผลิต” เชื่อมั่นสามารถสร้างสมดุลทางการตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เน้นเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ระบุที่ผ่านมาได้เชื่อมโยงสหกรณ์ 518 แห่ง กับภาคเอกชน 109 แห่ง และมีสหกรณ์ 55 แห่ง ส่งออกผลผลิตถึง 28 ประเทศ  รวม 818,873 ตัน มูลค่า 17,009 ล้านบาท

         นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นโยบายการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้า โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายสำคัญ 15 เรื่อง เช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ มีผลการดำเนินการต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2561 รวม 3,880 แปลง พื้นที่ 3.72 ล้านไร่ เกษตรกรทำแปลงใหญ่ รวม 277,127 ราย ผลผลิตสินค้า 74 ชนิด เกษตรกรสร้างมูลค่าผลผลิตได้ รวม 6,075 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วมากกว่า 90 แปลง วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ให้มีจำนวนแปลงเพิ่มขึ้นอีก 20 % นอกจากนี้ยังมีโครงการศูนย์การเรียนรู้พัฒนาการเกษตร (ศพก.) เกษตรทฤษฎีใหม่ การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า ปี 2560 ครัวเรือนภาคการเกษตรมีรายได้ทางการเกษตร 160,932 บาท/ครัวเรือน และรายได้นอกการเกษตร 148,346 บาท/ครัวเรือน รวมรายได้ครัวเรือนภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งหมด 309,278 บาท/ครัวเรือน

[adrotate banner=”3″]

        อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อาทิ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูง ประสบภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น มีสาเหตุมาจากเกษตรกรไทยยังขาดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ขาดความรู้ 2) ขาดเงินทุน และ 3) ไม่มีตลาดรองรับ จึงกำหนดนโยบาย “ตลาดนำการผลิต ” ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย บูรณาการการทำงานร่วมกัน

       นายกฤษฎา ระบุว่า ตัวอย่างจังหวัดที่นำนโยบายนี้ไปปฏิบัติและสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี ได้จัดพิธีลงนาม MOU ตามพันธะสัญญานำร่อง “การตลาดนำการผลิต” ระหว่างโรงพยาบาลกับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ในการจัดซื้อรายการอาหาร ประเภท ข้าวสาร พืชผัก และผลไม้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร หรือการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (SMEs)  เพื่อหาตลาดและสร้างอำนาจการต่อรองด้านราคาให้กับเกษตรกร ขณะนี้เชื่อมโยงสหกรณ์ 518 แห่ง กับภาคเอกชน 109 แห่ง และมีสหกรณ์ 55 แห่ง ส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศ รวม 28 ประเทศ ทำให้เกิดการซื้อขายผลผลิตเกษตร รวม 818,873 ตัน มูลค่า 17,009 ล้านบาท 

              ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อาทิ ยางพารา กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการยางพาราควบคุมการผลิตราคายางพารา พร้อมเรียก 4 ประเทศผู้ผลิตยางหารือแนวทางใหม่เพื่อลดการกรีดยาง สำหรับมาตรการหยุดกรีดยาง ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังหาแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ระหว่างชะลอการกรีดยางหรือหยุดกรีดยาง ขณะที่การส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ปัจจุบันมีหลายจังหวัดเริ่มดำเนินการใช้ยางทำถนนแล้ว เช่น จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสงขลา เป็นต้น