ชาวสวนเฮ! ปีทองทุเรียนราคาพุ่งเป็นประวัติการณ์

  •  
  •  
  •  
  •  


โฆษกกระทรวงเกษตรฯ ชี้ส่งออกทุเรียนไปยังจีนด้วยวิธีซื้อ-ขายผ่านออนไลน์ ทำให้ราคาทุเรียนทะยานถึง กก.ละ 110 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ย้ำชัดต้องผลิตทุเรียนคุณภาพป้อนตลาดส่งออกต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับรอง GAP ขณะที่โฆษกกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุชัดขายทุเรียนอ่อน ผิดฏหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ติดคุกกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยเปิดตลาดส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ด้วยวิธีการซื้อขายผ่านออนไลน์ ส่งผลให้ราคาทุเรียนรับซื้อปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีแก่เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนในภาคตะวันออก โดยในปีนี้ราคาทุเรียนเหมาสวนสูงถึง 110 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากกว่าทุกปี ทำให้มีข้อกังวลว่าเมื่อราคาทุเรียนสูงขึ้น อาจส่งผลให้ชาวสวนเร่งตัดผลผลิต ซึ่งทำให้คุณภาพของทุเรียนลดลง

         ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงได้ติดตามสถานการณ์และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด อาทิ ด้านคุณภาพของทุเรียนส่งออกไปจีน กรมวิชาการเกษตรได้มีพิธีสารกำกับดูแล โดยกำหนดให้การส่งออกทุเรียนคุณภาพมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับรอง GAP โรงคัดบรรจุที่ได้รับรอง GMP และตรวจสอบออกใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยข้อกำหนด GAP กำหนดให้มีการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม

          นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบในประเด็นทุเรียนอ่อนเพิ่มเติม โดยการทวนตรวจสอบที่โรงคัดบรรจุว่ามีการรับวัตถุดิบที่เหมาะสมเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพอีกทางหนึ่ง เพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมตรวจสอบระดับจังหวัด รวมทั้งมีประกาศกำหนดเรื่องการจดทะเบียน ผู้ส่งออกทุเรียน ซึ่งกำหนดให้ติด sticker ที่ขั้วผล เพื่อให้เป็นช่องทางการแจ้งปัญหาที่ผู้ซื้อพบ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะตรวจสอบการติด sticker ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอีกทางหนึ่งด้วย เป็นต้น

         ด้าน นางดาเรศร์  กิตติโยภาส โฆษกกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด รายงานสถานการณ์การผลิตและการจำหน่ายไม้ผลภาคตะวันออกทุกสัปดาห์ โดยขณะนี้มีทุเรียนออกสู่ตลาดไปแล้ว 112,817 ตัน คิดเป็น 27.93% และผลผลิตที่ยังไม่เก็บเกี่ยว 291,089 ตัน คิดเป็น 72.07% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2561) ซึ่งในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 จะเป็นช่วงที่ทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด ไม่ใช่เป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตที่มักประสบกับปัญหาทุเรียนอ่อน

         อย่างไรก็ดีได้มีมาตรการป้องกันปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และมีการส่งเสริมในรูปแบบแปลงใหญ่ทุเรียนในภาคตะวันออก จำนวน 23,092 ไร่ มีสมาชิก 3,079 ราย ซึ่งการผลิตทุเรียนคุณภาพในรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ การลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน GAP ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ถ่ายทอดองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดแก่เกษตรกรที่ยังไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่าน ศพก.เครือข่าย สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับซื้อ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศได้

[adrotate banner=”3″]

           สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพ เริ่มตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนที่มีความสุกแก่เต็มที่ หรือเก็บเกี่ยวทุเรียนในช่วงอายุที่เหมาะสมโดยนับจำนวนวันหลังดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยวสำหรับพันธุ์กระดุมทอง อยู่ที่ประมาณ 90-100 วัน พันธุ์ชะนีประมาณ 105-110 วัน และพันธุ์หมอนทองประมาณ 120-135 วัน และมีข้อแนะนำในการจัดการผลผลิตด้วยการคัดขนาด คัดคุณภาพ แยกผลผลิตที่ด้อยคุณภาพออก และให้เกษตรกรทำความสะอาดผลทุเรียนอย่างดีก่อนที่จะส่งจำหน่าย

           ส่วนมาตรการด้านการป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ป้องกัน แก้ไขปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อน เป็นนโยบายหลัก โดยกำหนดออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้ 1. แนวทางเชิงรุก ด้วยการสร้างความเข้าใจและเพิ่มทักษะความรู้ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การสร้างทีมเกษตรกรและหน่วยรับตรวจความสุกของทุเรียนก่อนการเก็บเกี่ยว 2. แนวทางเชิงรับ ด้วยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนระดับอำเภอและระดับจังหวัด 3. การนำบทลงโทษทางกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง

           “กฏหมายอาญาระบุชัดเจนมาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นางดาเรศร์ กล่าว

         โฆษกกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในแต่ละจังหวัดยังมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น เช่น จังหวัดจันทบุรี ซึ่งในพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อการส่งออกและส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกจังหวัดจันทบุรี ฤดูกาลผลิตปี พ.ศ.2561 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธาน และมีเกษตรจังหวัดจันทบุรีเป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมคุณภาพไม้ผลและสุ่มตรวจควบคุมคุณภาพผลผลิต ซึ่งเป็นมาตรการระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกัน