รัฐ-เอกชน ลั่นระฆังยกแรกขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยครบวงจร เริ่มแล้วร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ด้วยการจัดโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 หวังให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ หลังพบว่าตลาดเติบโตต่อเนื่องมีมูลค่าแตะ 30,000 ล้านบาท คาดปีนี้ความต้องการทะยานถึง 1 แสนตัน ขณะที่ผลผลตภายในประเทศมีเพียง 23,273 ตัน
ดร. วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์กาแฟในช่วงระยะ 5 ปี ช่วงปี2559-2563 ว่า ทางกระทรวงเกาตรฯ มีเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในด้านการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีการผลักดันให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ดำเนินธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟของไทย เนื่องจากแนวโน้มราคาผลผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพในตลาดโลกมีแนวโน้มที่สูงขึ้น รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟไทยที่มีมูลค่าสูงแตะ 30,000 ล้านบาท
ขณะที่ผลผลิตเมล็ดกาแฟของไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ สาเหตุจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงเหลือ 259,867 ไร่ ทำให้ผลผลิตกาแฟลดลงไปด้วยโดยเหลือเพียง 23,273 ตัน แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรปีผู้ปลูกถึงปีละอย่างน้อย 200 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจกาแฟของไทยมีมูลค่าในการส่งออกประมาณ 3,900 ล้านบาท ในปี 2560 แต่มีมูลค่าการนำเข้าถึงประมาณ 8,044 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมอยู่ที่ 90,000 ตัน คาดว่าในปีนี้ (2561) ความต้องการจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 แสนตัน
ด้วยเหตุนี้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ องค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงมีการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการผลิตกาแฟในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เป็นไปอย่างมีระบบ ด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาด้านการตลาด พัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิตให้แก่อุตสาหกรรมกาแฟไทย
[adrotate banner=”3″]
ด้าน ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของการจัดการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนครั้งที่ 1 ว่า ประเทศไทยและประเทศกลุ่มอาเซียนถือว่าเป็นเพียงไม่กี่กลุ่มประเทศที่อยู่เขตพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกกาแฟ หรือ ที่เรียกว่าเขต Bean Belt โดยรายงานขององค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลผลิตเมล็ดกาแฟในสัดส่วน 1 ใน 4 ของผลผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลก มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ใกล้เคียงกับกาแฟจากทวีปแอฟริกา โดยเวียดนามเป็นแหล่งผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสตาอันดับ 1 ของโลก และ เป็นผู้ผลิตกาแฟสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก บราซิล
นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตกาแฟสำคัญอย่างอินโดนีเซีย ลาว ไทย และ พม่าที่มีแนวโน้มผลผลิตมากขึ้น ซึ่งหากมีการร่วมมือกันพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ผลิตสายพันธุ์กาแฟ ปลูกและเก็บเกี่ยวจนเป็นสารเมล็ดกาแฟ จนไปถึงปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์กาแฟสำหรับดื่มแล้วจะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถก้าวขึ้นเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลกได้
อย่างไรก็ตามในการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนครั้งนี้ มีคณะอนุกรรมการการจัดงานรวมทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพ สมาพันธ์กาแฟอาเซียน สมาคมบาริสต้าไทย สมาคมกาแฟไทย สมาคมชาวสวนกาแฟไทย สมาคมกาแฟและชาไทย และ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ ในฐานะเจ้าภาพร่วม และ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน ภายใต้เป้าหมายที่จะ “เป็นผู้นำการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน ก้าวไกลสู่ตลาดโลกภายใต้ภาพลักษณ์กาแฟไทย” ภายในปี 2564
สำหรับรายละเอียดในการจัดงานฯ นั้น นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล ประธานบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า โครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 จะเป็นการประชุมหารือด้านความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยและอาเซียนโดยมีเป้าหมายหลักร่วมกันในการสร้างการต่อยอดทางความคิดในด้านของวิชาการและด้านธุรกิจ โดยงานประชุมฯ จะจัดขึ้นในวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ภายในงานนอกจากจะมีการประชุมที่สำคัญแล้ว ยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย อาทิ
– การประกวดการแข่งขัน ACID 2018 Barista Royal Princess Cups ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 รายการ ได้แก่ การแข่งขัน ACID 2018 Brewer Cup Championship และการแข่งขัน ACID 2018 Latte Art Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่เปิดรับทั้งผู้เข้าแข่งขันจากไทยและนานาชาติ
– งาน ASEAN Coffee Festival ซึ่งเป็นการจัดแสดงนิทรรศการผลงานด้านวิชาการและงานแสดงสินค้า เพื่อให้องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอภาพลักษณ์และธุรกิจขององค์กรในด้านความยั่งยืน ตลอดจนเปิดโอกาสทางการทำธุรกิจการค้าของทุกกลุ่มตั้งแต่กิจการด้านการเกษตร กิจการโรงคั่ว กิจการโรงงาน กิจการเครื่องมือและเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจกาแฟ กิจการร้านค้ากาแฟ และ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจกาแฟ รวมทั้งพาวิลเลี่ยนจากบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ
– การเยี่ยมชมดูงานด้านกาแฟ อาทิ โครงการหลวง แหล่งปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ และร้านกาแฟ
ด้วยเหตุนี้จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟและผู้สนใจในกาแฟเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการจัดงานที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟจากต้นน้ำยังปลายน้ำได้อย่างแท้จริง และ เป็นหนึ่งในเครื่องมือของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กาแฟ 2560-2564 ของประเทศไทยให้บรรลุยังเป้าหมายอีกด้วย