วิกฤต? ”ผลไม้ไทยปี 61” เมื่อพื้นที่ปลูกเพิ่ม…ผลผลิตลด!

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส  กาเจ

           “ผลผลิตรวมของทั้ง 4 สินค้าจะลดลงทุกชนิด โดย มังคุด ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 64.81 รองลงมาคือ ลองกอง ลดลงร้อยละ 32.05 เงาะ ลดลงร้อยละ 9.81 และทุเรียน ลดลงร้อยละ 4.37 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน  ทำให้ไม้ผลปรับสภาพต้นไม่ทัน”

               ใกล้เข้ามาแล้วฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ในภาคตะวันออก ที่เป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตไม้ผลเขตร้อน โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ที่กำลังจะออกสู่ตลาดภายในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ ซึ่งหากย้อนอดีตกว่า 10 ปีก่อน ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกรวมถึงภาคใต้ด้วย เกษตรกรมักจะประสบกับปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำซ้ำซากปีแล้วปีเล่า

               กระนั้นหลังจากที่มีบริษัทของชาวเวียดนาม “พี-โทน เมมเบอร์ คอมพานี่ ลิมิเต้ด” (P-Tone Member Company Limited) หรือที่ชาวสวนรู้จักเจ้าของในนาม “ยายเฟือง” (นางเฟือง ตวน) หรือ “งูเยน ตี พวง” (Nguyen Thi Phuong) ถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่รับซื้อผลไม้ โดย ทุเรียน และมังคุด ในช่วงต้นทศวรรษที่ผ่านมา จากเครือข่ายในภาคตะวันออกส่งไปยังประเทศเวียดนามและจีน ทางเรือ จากแหลมฉบังผ่านฮานอยของเวียดนาม สู่เมืองกวางโจวของจีน

               ที่สำคัญยายเฟื่องคนนี้ ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ราคาผลไม้ในภาคตะวันออกกระเตื้องขึ้นมา และเครือข่ายได้ขยายในพื้นที่ซื้อผลไม้ภาคใต้ส่งจีนด้วยโดยเฉพาะในปี 2554 ราคาทุเรียนเกรดส่งออกพุ่งขึ้น กก.ละ 100-120 บาท  เช่นเดียวกับมังคุดราคากก.ละ เกิน 100 บาทเช่นกัน

                ในปีเดียวกันนั่นเอง การส่งผลผลไม้จากไทยไปยังเวียดนาม และจีนต้องผ่านฮานอยของเวียดนาม และกวางโจวและเซียงไฮ้ ของจีน ได้เพิ่มทางเลือกอีกมีทั้งหมด 4 เส้นทางคือ ทางเรือผ่านกวางโจวและเซี่ยงไฮ้ เป็นศูนย์กลางกระจายผลไม้ไทยไปฝากฝั่งทะเลจีน และทางบกอีก 2 เส้นทาง คือ ถนนหมายเลข 9 หรืออาร์ 9 จากมุกดาหาร ผ่านดานัง เข้าพักที่ฮานอย แล้วสู่ปักกิ่ง เป็นศูนย์กลางการกระจายผลไม้ไทยไปยังภาคเหนือของจีน ใช้เวลาที่น้อยกว่าเท่าตัว

[adrotate banner=”3″]

             อีกเส้นทางใหม่คือ ถนนสาย อาร์3 เอ (R 3A) จากเชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน ส.ป.ป.ลาว สู่ทางใต้ของจีนผ่านเมืองสิบสองปันนา คุนหมิง ไปพักที่มณฑลเซฉวน กระจายผลไม้ไทยสู่ภาคใต้ และชายแดนทิเบต หรือจะเข้ามาสู่ปักกิ่งก็ได้ ซึ่งจีนรับผลไม้จากไทบแบบไม่อั้นอีกด้วย และต่อมามีพ่อค้าคนจีนมาตั้งล้ง รับซื้อผลไม้จากชาวสวนในภาคตะวันออก เพื่อส่งจีน โดยอาศัยข้อตกลงเขตการค้าสินค้าเกษตรเสรีระหว่างไทยกับอาเซียน และจีน ทำให้ราคาผลไม้ไทย 2 ชนิดคือทุเรียนและมังคุด ราคาสูงมาตลอด แต่กระนั้นเงาะและลองกองยังมีปัญหาอยู่

              สำหรับฤดูกาลผลไม้ภาคตะวีนออกสู่ในปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเตรียมการร้องรับสถานการแล้ว โดยเน้นการบริหารจัดการให้มีคุณภาพและปริมาณ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เกษตรกร หลังพบข้อมูลว่า ผลไม้ตะวันออกลดลงจากปี 60 ร้อยละ 18.25 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน และทุเรียนประสบการระบาดของเชื้อราไฟทอปเธอราอีกด้วย

               นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561 ว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพ ปริมาณ และความปลอดภัยเป็นสำคัญ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่มาตรฐาน (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลในลักษณะแปลงใหญ่ อบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

              ส่วนในเชิงปริมาณ เช่น การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การจัดทำแผนบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน เป็นต้น โดยจังหวัดภาคตะวันออกได้จัดทำรายละเอียดของแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่โดยมีคณะกรรมการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการกลั่นกรองเชื่อมโยงบูรณาการแผนงานหรือโครงการ ในขณะที่การบริหารจัดการเรื่องคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะคุณภาพของทุเรียน ที่ภาคตะวันออก เน้นให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ค้า (ล้ง และ แม่ค้า) ตัด รับซื้อ และขายทุเรียนที่ได้อายุตัดตามมาตรฐาน มีการออกประกาศควบคุมและบทลงโทษของผู้กระทำผิด

             ขณะที่ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ข้อมูลการบูรณาการสำรวจจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผล ปี 2561  โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) และศูนย์สารสนเทศการเกษตร ของ สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก วิเคราะห์ผลสำรวจ ในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการไม้ผลตั้งแต่ต้นฤดูนั้น

             ผลสำรวจข้อมูลเอกภาพปี 2561 (ข้อมูล ณ 4 เมษายน 2561) พบว่า เนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 678,203 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 677,061 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,142 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.17) โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ในขณะที่มังคุดลดลงร้อยละ 0.30 เงาะ ลดลงร้อยละ 1.63 และ ลองกอง ลดลงร้อยละ 8.97 ซึ่งการลดลดลงของมังคุด เงาะ และลองกอง เป็นการตัดโค่น สางต้นออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน โดยเนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 615,172 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 605,481 ไร่ (เพิ่มขึ้น 9,691 ไร่ หรือร้อยละ 1.60) โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.32 มังคุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.49 ส่วนเงาะลดลงร้อยละ 0.94 และลองกองลดลงร้อยละ 6.89  

            ส่วนเนื้อที่ให้ผลผลิตรวมทั้ง 4 สินค้า มีประมาณ 647,522 ตัน ลดลงจากปี 2560 ที่มีจำนวน 792,113 ตัน (ลดลง 144,591 ตัน หรือ ร้อยละ 18.25) ซึ่งผลผลิตรวมของทั้ง 4 สินค้าจะลดลงทุกชนิด โดย มังคุด ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 64.81 รองลงมาคือ ลองกอง ลดลงร้อยละ 32.05 เงาะ ลดลงร้อยละ 9.81 และทุเรียน ลดลงร้อยละ 4.37 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งอากาศหนาว ร้อน และฝนตกสลับในแต่ละวัน ทำให้ไม้ผลปรับสภาพต้นไม่ทัน ไม่เอื้ออำนวยในการติดดอก ออกผล ไม้ผลออกใบอ่อนแทนการออกดอก ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน

             ผลผลิตต่อไร่ทั้ง 4 สินค้า ลดลงทุกสินค้า โดยผลผลิตต่อไร่ มังคุด ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 65.34 รองลงมา คือ ลองกองลดลงร้อยละ 27 เงาะลดลงร้อยละ 8.94 และทุเรียนลดลงร้อยละ 8.31 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 ในระยะที่ต้นไม้กำลังจะเริ่มติดดอก ออกผล ต้นไม้ปรับสภาพต้นไม่ทัน

            อีกทั้งในปีที่ผ่านมา มังคุดติดผลมาก และติดผลล่าช้า จึงพักสะสมอาหาร และคาดการณ์ปีนี้จะออกดอกล่าช้า บวกกับสภาพอากาศแปรปรวน เป็นการออกใบอ่อนแทนการออก และส่วนหนึ่งต้นทุเรียนประสบปัญหาเชื้อราไฟทอปเธอราที่ระบาดในปี 2560 ทำให้ทุเรียนเป็นโรครากโคนเน่ายืนต้นตาย ขยายเป็นพื้นที่กว้างทั้งจังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะแหล่งผลิตใหญ่ในจังหวัดจันทบุรี ได้รับผลกระทบมากทำให้จำนวนต้นต่อไร่ที่ให้ผลผลิตได้ลดลง แม้จะมีต้นใหม่เริ่มให้ผลเพิ่มขึ้น ในปีนี้แต่ปริมาณการติดผลต่อต้นไม่มาก

            ปัจจุบันสถานการณ์ สภาพดินฟ้าอากาศก็ยังแปรปรวนในช่วงเดือนเมษายน มีพายุฤดูร้อนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับไม้ผล ผลผลิตร่วงหล่นเสียหายเพิ่มเติมจากที่ผลวิเคราะห์ประมาณการผลผลิตไว้ในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะได้ติดตามสถานการณ์ ความเสียหายจากภัยต่าง ๆ ที่จะกระทบกับปริมาณผลผลิตในภาพรวมต่อไป

            อย่างไรก็ตาม หากประเมินตามสภาพที่เป็นอยู่ พื้นที่การเพาะปลูกรวมทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทุเรียน มังคุด แต่ผลผลิตน้อยลง และมีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการที่ผลผลิตจะเสียหายอีก ฉะนั้น เมื่อผลผลิตน้อย ราคาย่อมต้องดีขึ้น อย่างนี้จะถือว่าวิกฤตหรือปีทองของราคาผลไม้ไทยในปีนี้