ผุดแล้วตลาดเกษตรอินทรีย์149แห่ง ยันไม่มีอีแอบ

  •  
  •  
  •  
  •  

                 นายลักษณ์ วจนานวัช เป็นประธานแถลงข่าวโครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมี นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ ร่วมด้วย ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กระทรวงเกษตรฯ ผุดโครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานแล้ว 149 แห่งทั่วไทย รองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามมาตรฐานระดับประเทศ “ลักษณ์” แฉปัจจุบันมีสินค้าที่แสดงเครื่องหมายว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ในท้องตลาดจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์จริง หรือลักลอบสวมเครื่องหมายเท่าหมายเท่านั้น

          นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวโครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มีแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก (Organic) ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ (Organic Thailand) ของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของต่างประเทศ เช่น มาตรฐาน IFOAM ของยุโรป มาตรฐาน NOP ของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐาน JAS ของญี่ปุ่น เป็นต้น

          โดยโครงการดังกล่าว พร้อมให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าออร์แกนิกเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้รักสุขภาพ และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าออร์แกนิกด้วย ซึ่งขณะนี้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการตรวจประเมินและได้รับการรับรองจาก มกอช.แล้ว จำนวน 7 แห่ง รวม 149 สาขาทั่วประเทศ ได้แก่ ท็อปส์ 103 สาขา ร้านริมปิง 9 สาขา เดอะมอลล์และในเครือ 6 สาขา แม็คโคร 14 สาขา แดรี่โฮม 1 สาขา บิ๊กซี 14 สาขา และเลมอนฟาร์ม 2 สาขา

สำหรับสินค้าออร์แกนิกที่นำมาจำหน่ายในร้านดังกล่าวมีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งพืชผักผลไม้อินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ สมุนไพรอินทรีย์ ไข่ไก่อินทรีย์ สัตว์น้ำอินทรีย์ และนมอินทรีย์ มีการแสดงฉลากอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ที่สำคัญยังมีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มบริโภคสินค้าอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

[adrotate banner=”3″]

          “ปัจจุบันมีสินค้าที่แสดงเครื่องหมายว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ในท้องตลาดจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสินค้าอินทรีย์ดังกล่าวเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์จริง หรือมาจากการผลิตแบบปกติแต่นำมาติดฉลากอินทรีย์ หรือลักลอบสวมเครื่องหมายอินทรีย์ จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น” นายลักษณ์ กล่าว

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกรพทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า โครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 ที่มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออก เป็นร้อยละ 40:60 และมุ่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub) ของสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลด้วย

         ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มบริโภคสินค้าอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยในปี 2557 พบว่า         มีมูลค่ารวม 2,311.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2556 จำนวน 1,914.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.72 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ (ที่มา : ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564)

          ด้าน นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำและประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ จำนวน   7 ฉบับ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ ผึ้งอินทรีย์ ปลาสลิดระบบอินทรีย์ การเลี้ยงกุ้งทะเลระบบอินทรีย์ และอาหารสัตว์น้ำอินทรีย์ ซึ่งเป็นไปในลักษณะของมาตรฐานทั่วไปหรือมาตรฐานสมัครใจ ไม่ได้บังคับหรือควบคุมสินค้าที่ติดฉลากและใช้ชื่อ “อินทรีย์” บนสินค้า ทำให้มีสินค้าที่ติดฉลากอินทรีย์โดยไม่มีมาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองจำนวนมาก แตกต่างจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ

          อย่างไรก็ตาม โครงการฯ นี้ ทำให้สถานที่จำหน่ายสินค้าได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต และการแสดงฉลากเกษตรอินทรีย์ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังสามารถประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ลูกค้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้องได้ในอนาคต มกอช.จึงได้มีแผนเร่งสานต่อและขยายผลโครงการฯ เพื่อเพิ่มจำนวนสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าออร์แกนิกครอบคลุมทุกพื้นที่ และขยายช่องทางการตลาดและเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรผู้ผลิตด้วย