ทิศทางการเกษตรในอาเซียน
โดย…รศ.สมพร อิศวิลานนท์
หลังที่มีการรวมตัวกันของประเทศสมาชิก10 ประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว นับจากต้นปี 2559 เป็นต้นไป เรามีข้อตกลงร่วมกันที่จะเปิดเสรีทั้งด้านการค้าและการลงทุนเชื่อมต่อกันภายในภูมิภาคเกิดการรวมกันเป็นฐานการผลิตและการเป็นตลาดอันเดียวกันซึ่งภาคการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีด้านตลาดการค้าและการลงทุน
อาเซียนมีพื้นที่การเกษตรโดยรวมประมาณ 793ล้านไร่ ในจำนวนนี้ประเทศอินโดนีเชียมีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 42.9 ของพื้นที่การเกษตรของอาเซียน รองลงมา 4 ลำดับ ได้แก่ประเทศ ไทย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม(ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรของสี่ประเทศรวมกันคิดเป็นร้อยละ 44.55)สำหรับประเทศสิงคโปร์และบรูไน เกือบจะไม่มีพื้นที่การเกษตรเลยหรือมีในจำนวนน้อยมาก ส่วน สปป.ลาวและกัมพูชามีพื้นที่รวมกันเพียงร้อยละ 6.32
ข้าวเป็นพืชอาหารหลักของประชากรในอาเซียนและเอเชียพื้นที่การเกษตรของอาเซียนจึงถูกนำมาใช้ในการผลิตข้าวมากที่สุด องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้รายงานว่าในปี 2557มีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 304.73 ล้านไร่และมีผลผลิตรวม 209.89 ล้านตันข้าวเปลือกหรือ 117ล้านตันข้าวสาร
ในจำนวนนี้มีการใช้บริโภคภายในภูมิภาค 103 ล้านตันข้าวสาร และมีผลผลิตส่วนเกินที่จะต้องส่งออกไปนอกภูมิภาค 14 ล้านตันประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของอาเซียนได้แก่ไทยและเวียดนาม ส่วนเมียนมาร์และกัมพูชามีปริมาณการส่งออกไม่มากนัก สำหรับ สปป.ลาวผลิตได้พอกินพอใช้ภายในประเทศเป็นสำคัญ
[adrotate banner=”3″]
ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญในอาเซียนได้แก่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเชีย ซึ่งผลิตได้ไม่เพียงพอ สำหรับสิงคโปร์และบรูไนนั้นก็ต้องนำเข้าข้าวเช่นกันเพราะเกือบจะไม่มีการใช้พื้นที่ปลูกข้าวในประเทศทั้งสอง
อาเซียนนอกจากการเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารแล้วยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกอีกด้วยโดยเฉพาะสินค้ายางพารา อาเซียนเป็นแหล่งผลิตยางธรรมชาติได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยมีปริมาณการผลิต 8.73 ล้านตันหรือคิดเป็นร้อยละ 73ของผลผลิตยางธรรมชาติของโลก ในจำนวนนี้เป็นผลผลิตจากไทยสูงสุด รองลงมาได้แก่อินโดนีเซีย และมาเลเชีย ผลผลิตยางธรรมชาติดังกล่าวในอาเซียนส่วนมากเป็นการส่งออกไปนอกอาเซียนในรูปของวัตถุดิบทำให้ทั้งสามประเทศเป็นคู่แข่งทางการค้าในตลาดส่งออกนอกอาเซียน
ในส่วนของปาล์มน้ำมันอาเซียนเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันแหล่งใหญ่ของโลกประมาณ 228.58 ล้านตันหรือร้อยละ 86.53 ในจำนวนนี้มีอินโดนีเซียและมาเลเชียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่หรือร้อยละ 94 ของผลผลิตปาล์มในอาเซียนทั้งหมดและทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดการค้าน้ำมันปาล์มของโลกด้วยเช่นกัน
สำหรับมันสำปะหลังอาเซียนมีผลผลิต 76.53 ล้านตันหรือมีสัดส่วนร้อยละ 29 ของผลผลิตมันสำปะหลังโลก ทั้งนี้มีไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ประมาณร้อยละ 40 และรวมถึงการเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์มันเส้นและมันอัดเม็ดซึ่งเป็นการแปรรูปขั้นต้น การนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเอทานอลมีไม่มากนัก
ส่วนเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตรองลงไป การผลิตอ้อยโรงงานในอาเซียนมีปริมาณ 192.3 ล้านตัน และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเป็นหลักสำคัญ ในจำนวนนี้ไทยเป็นแหล่งผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายรายใหญ่ของอาเซียน
ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆที่มีผลผลิตอ้อยรองลงมาได้แก่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียตามลำดับสำหรับสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอาเซียนมีการผลิตประมาณ 39.88 ล้านตันหรือคิดเป็นร้อยละ 3.92 ของผลผลิตข้าวโพดโลก ในจำนวนนี้มีอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแป้งข้าวโพดและการผลิตอาหารสัตว์ปีกซึ่งมีการผลิตและใช้ในแต่ละประเทศและในอาเซียนเป็นสำคัญ
นอกจากพืชที่กล่าวถึงดังกล่าวแล้วการผลิตกาแฟโดยเฉพาะจากประเทศเวียดนามได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับสองของโลกรองจากบราซิล
ถ้ามาดูการผลิตพืชผักและผลไม้การผลิตปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนมากจะใช้ภายในประเทศสมาชิกและภายในภูมิภาคอาเซียนเป็นสำคัญ มีการส่งออกไปยังตลาดทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนบ้างแต่มีมูลค่าไม่มากนักทั้งนี้เพราะในแต่ละประเทศจะมีมาตรฐานและความปลอดภัยของตนเองซึ่งในหลายกรณีได้ใช้มาตรฐานและความปลอดภัยดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจำกัดการค้าระหว่างกันในกรณีของสัตว์ปีกแปรรูปและสินค้าสัตว์น้ำแปรรูปพบว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าเนื้อไก่สดและแปรรูปและสินค้าสัตว์น้ำแปรรูปโดยเฉพาะกุ้งสดแปรรูปและรวมถึงอาหารทะเลกระป๋องไปยังตลาดอาเซียนและนอกอาเซียน
ขณะที่เวียดนามมีการผลิตสินค้าเนื้อปลาสวายจากการเพาะเลี้ยงส่งออกทั้งในตลาดอาเซียนและนอกอาเซียนสร้างมูลค่าได้จำนวนมากเช่นกัน
สินค้าเกษตรที่ต้องนำเข้าอย่างมากในอาเซียนได้แก่ข้าวสาลีและถั่วเหลือง เป็นต้นภูมิอากาศและสภาพภูมินิเวศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ประเทศในอาเซียนไม่สามารถผลิตข้าวสาลีให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้การผลิตถั่วเหลืองของหลายประเทศแม้จะมีการเพาะปลูกกันบ้างแต่อุปทานของผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค ทั้งการใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตน้ำมันพืชจากถั่วเหลืองและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงต้องนำเข้า
ในอีกด้านหนึ่งของพันธข้อตกลงสู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียนนั้น ได้มีข้อตกลงว่าด้วยมาตรฐานสินค้าและความปลอดภัยภายในภูมิภาคหรือที่เรียกว่า ASEAN Standard ซึ่งแต่ละประเทศมีความจำเป็นจะต้องพัฒนามาตรฐานสินค้าของแต่ละประเทศสมาชิกให้เข้าสู่มาตรฐานอาเซียน
ในกลุ่มของสินค้าเกษตรและอาหารได้มีการร่วมกำหนดมาตรฐานระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบสินค้านำเข้าเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานตัวสินค้าตามชนิดของสินค้า เช่นมาตรฐาน ทุเรียน มะม่วง สับปะรด มะละกอ เงาะ มังคุด เป็นต้น
มาตรฐานระบบเช่นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN organic standard) มาตรฐานการปฎิบัติการเกษตรที่ดีอาเซียน (ASEAN GAP)และรวมถึงมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างซึ่งได้จัดอยู่ในกลุ่มมาตรฐานทั่วไปทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานสินค้าและความปลอดภัยในกลุ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นอันหนึ่งอันเกียวกันและนำไปสู่การเชื่อมโยงและยกระดับการค้าทั้งในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคให้เกิดความเชื่อถือและเกิดการขยายตัวทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารตามมา
กระนั้นการเป็นประชาคมอาเซียนแม้จะได้สร้างความหวังของการเป็นฐานการผลิตและการตลาดอันเดียวกัน พร้อมกับมีการยกระดับมาตรฐานสินค้าและความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้วก็ตาม แต่การที่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคยังมีองค์ประกอบของเกษตรกรขนาดเล็กเป็นจำนวนมากอยู่ในภาคการเกษตร
อีกทั้งการผลิตสินค้าเกษตรหลักๆของประเทศสมาชิกทั้งหลายมีลักษณะของสินค้าที่คล้ายคลึงกันและเป็นสินค้าที่แข่งขันกันในตลาดจึงอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวของภาคการเกษตรและเกษตรกรของแต่ละประเทศการปรับตัวดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าประเทศสมาชิกในอาเซียนจะได้ร่วมมือพัฒนาทำให้กลไกตลาดภายในอาเซียนทำงานได้อย่างเสรีในการจัดสรรทรัพยากรการผลิตและการกระจายสินค้าให้เป็นกลไกตลาดอันเดียวกันได้อย่างไร
หากอาเซียนทำข้อจำกัดดังกล่าวให้เกิดเป็นผลสำเร็จได้ย่อมเชื่อได้ว่าภาคการเกษตรของอาเซียนจะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นภาคที่มีความมั่งคั่งและสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรตามมา