4 ประเทศส่งออกใหม่ สำหรับ SME ไทยที่ไม่ต้องการพึ่งตลาดเก่าอีกต่อไป!
เมื่อพูดถึงประเทศส่งออกสำหรับสินค้าไทย Top of Mind แรกที่ SME จะนึกถึงคงหนีไม่พ้นประเทศคุ้นเคยอย่างโซนอาเซียน จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาประเทศส่งออกเหล่านี้ที่กินส่วนแบ่งกว่า 60% ของ GDP โลกทั้งหมด และยังเป็นตลาดหลักของไทยตอนนี้ อยู่ในระหว่างชะลอตัว วันนี้ Bangkok Bank SME จะมาแนะนำตลาดส่งออกใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงโอกาสสินค้าไทยที่ยังเปิดกว้างอีกมาก
อินเดีย
อินเดียเป็นเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะพื้นฐานที่ไว้วางใจในสินค้าไทย และชื่นชอบเที่ยวเมืองไทย หากเราตั้งข้อสังเกตดีๆ คนอินเดียเดินทางประเทศไทยจำนวนไม่ใช่น้อยๆ ต่อปี และการจับจ่ายใช้สอยระหว่างท่องเที่ยวรวมถึงการซื้อของฝากกลับประเทศทำให้สินค้าไทยเป็นที่คุ้นชิ้นกับชาวอินเดียมานาน นอกจากนี้ ยังมาจากการส่งผ่านเป็นสินค้าข้ามแดนจากชายแดนไทย – เมียนมา – อินเดีย ส่วนที่สำคัญต่อมา คือ อินเดียค่อนข้างมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ จัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากจีนและญี่ปุ่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังระบุถึงสินค้าไทยที่นิยมในอินเดีย ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหารไทย สปา ร้านนวด เป็นต้น
ปากีสถาน
ปากีสถาน เป็นประเทศที่น่าสนใจในเชิงที่เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ยังไม่มีความก้าวหน้าเพียงพอกับจำนวนประชากร และยังไม่สามารถพัฒนาการถนอมอาหารไว้ทานได้ในระยะยาว โอกาสของสินค้าไทยจึงตกไปอยู่ที่ “สินค้าผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป” โดยการนำเข้าสินค้าไทยของทางปากีสถานจะทำผ่านการนำเข้าจากประเทศดูไบ
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่วิเคราะห์ออกมาจะเป็นสินค้าที่ต้องการแล้ว เมื่อจำแนกเป็นหมวดพบว่า เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารสัตว์ ปลาซาร์ดีน ทูน่ากระป๋อง และผลไม้กระป๋อง โดยเฉพาะสับปะรดและลิ้นจี่ ก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพสูงและรสชาติดีกว่าสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ
เครือรัฐเอกราช (CIS)
เมื่อพูดถึงตลาด CIS ทุกคนน่าจะพุ่งเป้าไปที่ตลาดรัสเซียเป็นอันกับแรก ศักยภาพที่แท้จริงของรัสเซียไม่ได้จำกัดเฉพาะตลาดรัสเซีย แต่ขยายรวมไปถึงตลาด CIS อีกกว่า 100 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศยูเครน คาซัคสถาน เบลารุส และอุซเบกิสถาน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของ GDP ในระดับสูง โอกาสสินค้าไทยในรัสเซีย ยังเปิดกว้างโดยเฉพาะอาหาร ด้วยส่วนหนึ่งมีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี และมีช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเพาะปลูกจำกัด ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเป็นหลัก
เมื่อจำแนกออกมาจะแบ่งได้ดังนี้ ข้าว (จากการขยายตัวของร้านอาหารไทยตามแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจ) , เนื้อสัตว์ (เครื่องในไก่ อาทิ ตับไก่ กึ๋นไก่ เนื้อไก่นิยมทั้งแบบลอกหนังและแบบไม่ลอกหนัง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งนิยมประเภททั้งตัว (Head on Shell on) และเด็ดหัว (Headless Shell on) , ผลไม้และน้ำผลไม้ (ส่วนใหญ่นิยมนำเข้าเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ไม่สามารถปลูกได้ในรัสเซีย) , ขนมขบเคี้ยว ถั่ว และปลาตากแห้ง (เป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก) , อาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง
ตะวันออกกลาง
กำลังซื้อสูงรายได้ประชากรต่อหัวประมาณ 59,890 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ประชากรรวมกว่า 400 ล้านคน คงไม่ต้องบอกอีกแล้วว่าทำไม SME สมควรไปตะวันออกกลางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปตะวันออกกลางสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ และมีแนวโน้มความต้องการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วย อาหารและผลไม้เพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ของใช้สำหรับแม่และเด็ก ของตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งธุรกิจบริการด้านความงาม สปา และร้านอาหาร เป็นต้น
ที่มา : Bangkok Bank SME