พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เสนอภาครัฐเปิดนำเข้าข้าวโพด-ข้าวสาลี-กากถั่วถั่วเหลืองจากสหรัฐฯในปริมาณนำเข้าให้เท่ากับปริมาณที่ขาดแคลน แต่…ไม่ควรเปิดตลาดสินค้าทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู และเครื่องใน รวมถึงเนื้อไก่ เผยปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 9.2 ล้านตัน แต่ผลิตในประเทศได้ 5 ล้านตัน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า สมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอความเห็นต่อการเปิดตลาดสินค้าเกษตร จากสหรัฐอเมริกา โดยเสนอว่า รัฐบาลต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน โดยไม่ควรเปิดตลาดสินค้าทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู และเครื่องใน รวมถึงเนื้อไก่ เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสุขอนามัยของผู้บริโภคในประเทศ อาทิ การห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558
รวมถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ.2559 เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาในผู้บริโภค และแม้ว่าสินค้าบางรายการจะเป็นสินค้าพรีเมี่ยม เช่น เนื้อวัว ก็มีต้นทุนในระดับที่สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศ ตลอดห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะต้นน้ำ อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลัง
ในส่วนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไทยขาดแคลน สามารถเปิดตลาดให้นำเข้าจากสหรัฐฯได้ รวมถึงข้าวสาลี กากถั่วเหลือง โดยภาครัฐต้องลดอัตราภาษีกากถั่วเหลืองที่ 2% เพื่อจูงใจการนำเข้า พร้อมกับกำหนดปริมาณนำเข้าให้เท่ากับปริมาณที่ขาดแคลนในประเทศ พร้อมกำหนดช่วงเวลานำเข้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับช่วงที่เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของไทย ซึ่งตรงกับข่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเช่นเดียวกับสินค้าเมล็ดถั่วเหลือง นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องมือทางการเกษตรที่ทันสมัยด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตร
ปัจจุบัน ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยอยู่ที่ 9.2 ล้านตัน แต่ผลิตในประเทศได้ 5 ล้านตัน และที่ผ่านมา มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน 2 ล้านตัน และนำเข้าข้าวสาลีอีกประมาณ 1.7 ล้านตัน แต่จากปัญหาฝุ่น PM2.5 และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงอาจเปลี่ยนมาเป็นนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาแทน
เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ไทยนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลเป็นหลักด้วยเหตุผลด้านต้นทุน เนื่องจากโปรตีนถั่วเหลืองบราซิลสูงกว่าสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ สามารถจำหน่ายถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองในราคาที่แข่งขันได้ จะเพิ่มโอกาสให้นำเข้าจากสหรัฐฯ ได้มากขึ้น นอกจากนี้การตรวจวัดโปรตีนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังมีความแตกต่างกัน จึงควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มโอกาสในการนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้มากขึ้น